การจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน (Sustainable Procurement) คืออะไร?
‘การจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน‘ หรือ sustainable procurement คือขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรที่นำปัจจัยทางสังคม (Social) เศรษฐกิจ (Economics) และสิ่งแวดล้อม (Environment) มาพิจารณาควบคู่ไปกับราคา คุณภาพ การส่งมอบสินค้าและบริการเพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคม เศรษฐกิจ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เมื่อพูดถึงเรื่องความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นความยั่งยืนในซัพพลายเชน โลจิสติกส์ หรือการจัดซื้อจัดจ้างเองก็ตาม ในทุกๆกระบวนการจะต้องมองผ่าน 3 มิติด้านความยั่งยืน ได้แก่ สังคม (Social) เศรษฐกิจ (Economics) และสิ่งแวดล้อม (Environment) ผมขออนุญาตยกตัวอย่างแนวทางการทำการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนผ่าน 3 ด้านนี้ครับ
- ด้านสังคม (Social): การจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก เช่น การต่อต้านการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย เช่น แรงงานทาส แรงงานเด็ก และการจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงแนวปฏิบัติที่ดีต่อผู้ใช้แรงงาน โดยมีการคำนึงถึงชีวิตแรงงาน โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมการทำงาน สุขภาพ และความปลอดภัยในการทำงาน
- ด้านเศรษฐกิจ (Economics): การรักษาเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน การจัดซื้อจัดจ้างงานท้องถิ่น (Local Partnership) ที่ชุมชนมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์ รวมไปถึงการมีบรรษัทภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชั่น เช่น การต่อต้านการติดสินบนและการต่อต้านคอร์รัปชั่นทุกกรณี (Business Ethics & Anti-Corruption)
- ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental): การปกป้องและใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า เช่น การสนับสนุนคู่ค้าที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ความสำคัญของการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน
การทำการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนมีความสำคัญต่อธุรกิจ “ในระยะยาว” ไม่ว่าคุณจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในอุตสาหกรรมไหน การจัดซื้ออย่างยั่งยืนก็สำคัญ การจัดซื้ออย่างยั่งยืนจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดการหยุดชะงักในซัพพลายเชน (Supply Chain Disruption) เพราะคุณมีความสัมพันธ์อย่างยั่งยืนกับซัพพลายเออร์ของคุณ ช่วยลดต้นทุนในการผลิตเพราะคุณใช้พลังงานในการผลิตที่ลดลง ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ หรือการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การนำกระดาษรีไซเคิลมาใช้ทำกล่องใส่ผลิตภัณฑ์ เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว พฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ลูกค้าส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หากคุณยังไม่เริ่มทำตั้งแต่วันนี้ ในอนาคตคุณก็ต้องทำอยู่ดี เพราะถ้าหากคุณไม่ทำ คู่แข่งในตลาดอาจจะก้าวแซงคุณไปแล้วก็ได้
ประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน
ประโยชน์ที่ได้รับจากการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนนั้นมีมหาศาล สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือ “ความยั่งยืน” ตามชื่อเลยครับ องค์กรของคุณจะเติบโตและสามารถแข่งขันในตลาดได้อย่าง “ยั่งยืน” โดยได้รับประโยชน์ต่างๆดังต่อไปนี้
- ช่วยสร้าง Supply Chain Resilience: การทำการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน (Sustainable procurement) คือการเข้าไปทำงานกับซัพพลายเออร์อย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะมั่นใจว่าการดำเนินงานของซัพพลายเออร์ถูกต้องตามหลักการความยั่งยืน องค์กรคุณกับซัพพลายเออร์มีเป้าหมายเดียวกัน เดินไปข้างหน้าพร้อมกัน หากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมากระทบ ซัพพลายเชนของคุณก็จะไม่หยุดชะงักเพราะคุณมีเครือข่ายซัพพลายเออร์ที่ดี อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง Supply Chain Resilience ได้ที่นี่
- ลดความเสี่ยง: องค์กรจะสามารถลดความเสี่ยงต่อการเสียชื่อเสียงที่อาจเกิดจากการเป็นคู่ค้ากับซัพพลายเออร์ที่มีแนวปฏิบัติการทำงานที่ไม่มีธรรมาภิบาล เช่น การใช้แรงงานทาส อย่างที่เคยเห็นเป็นข่าวที่โด่งดังไปทั่วโลกในกรณีของซีพีเอฟที่โดนแบนการกุ้งแช่แข็งจากยุโรปเมื่อหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการใช้แรงงานทาส จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้สร้างความเสียหายทั้งด้านชื่อเสียงและด้านการเงินเป็นอย่างมากกับซีพีเอฟ (อ้างอิงจาก Voice TV)
- ลดต้นทุน: องค์กรสามารถลดต้นทุนในการผลิต การจัดซื้อลงไปได้อย่างเห็นได้ชัด เพราะผลิตภัณฑ์ขององค์กรใช้ทรัพยากรน้อยลง ใช้พลังงานในการผลิตน้อยลง มีการใช้วัตถุดิบที่มาจากการรีไซเคิลเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นต้นทุนในการผลิตจะลดลงในระยะยาว
- สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า: การจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนจะทำให้เกิดความโปร่งใสในการจัดหา (sourcing) เพื่อดูว่า ซัพพลายเออร์ที่องค์กรซื้อของด้วยได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของความยั่งยืนหรือไม่ ลูกค้าจะได้มีความมั่นใจและยอมที่จะจ่ายเงินสูงกว่าผลิตภัณฑ์ตัวอื่นในท้องตลาดเมื่อผลิตภัณฑ์ของคุณได้จัดซื้อมาอย่างมีธรรมภิบาล
สุดท้ายแล้ว องค์กรจะอยู่ได้ในอนาคต (future-proof) เพราะองค์กรของคุณได้เตรียมพร้อมกับความเป็นได้ของการขาดแคลนทรัพยากรที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในอนาคต
ตัวอย่างบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการทำการจัดซื้ออย่างยั่งยืน
ผมขอยกธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการทำการจัดซื้ออย่างยั่งยืนมาใช้เป็นตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนครับ ธุรกิจนั้นอยู่ใกล้ตัวพวกเราทุกคนมากครับ เป็นเฟรนไชส์กาแฟชื่อดัง นั่นคือ สตาร์บัคส์ ครับ
สตาร์บัคส์ปฏิบัติตามหลักการของ C.A.F.E. Practices (Coffee and Farmer Equity) ซึ่งเป็นหลักการจัดหาเมล็ดกาแฟอย่างยั่งยืนและอย่างมีคุณธรรมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมกาแฟ หลักการนี้เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งหลักการนี้เป็นโปรแกรมที่ช่วยโปรโมทความโปร่งใสในการจัดหาเมล็ดกาแฟและยังช่วยปกป้องสิทธิความเป็นอยู่ของเกษตรกรและครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดี ถูกสุขลักษณะ หลักการนี้ช่วยสตาร์บัคส์ในการจัดหาเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพและช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้นในระยะยาว อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่องของการ Sourcing ของสตาร์บัคส์ได้ที่นี่ครับ
อีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจ เดลล์ (Dell) บริษัทผลิตฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์จากรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เดลล์ได้จับมือกับซัพพลายเออร์หลายรายเพื่อร่วมกันออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ใช้พลังงานน้อยลง ซึ่งการออกแบบนี้ต้องอาศัยระยะเวลา ทรัพยากรจากทั้งเดลล์และซัพพลายเออร์ที่จะต้องวางแผนกันในระยะยาว ลูกค้าแฮ้ปปี้ ทางเดลล์และซัพพลายเออร์ก็เติบโตต่อได้ในระยะยาว