ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แฮชแทก #Wearวนไป กลายเป็นประเด็นร้อนในโลกโซเชียลเป็นอย่างมาก หลังจากครูลูกกอล์ฟ หรือ คณาธิป สุนทรรักษ์ ครูสอนภาษาและเจ้าของสถาบัน Angkriz ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับประเด็น “การใส่เสื้อผ้าซ้ำ” โดยระบุว่า “ลูกกอล์ฟอยากชวนทุกคนมาสร้างค่านิยมเรื่องการใส่เสื้อผ้าซ้ำวนไปเรื่อยๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม หรือใช้ของมือสองเป็นหลัก เพื่อให้คนเห็นว่าเราไม่ต้องตาม collection ใหม่ๆ ของโลกตลอดเวลา เพราะเสื้อผ้าหรือสิ่งของที่เราซื้อมา มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน”
ผมในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านซัพพลายเชน ผมจะขอมาเล่ามุมมองของซัพพลายเชนกับการ #Wearวนไป ให้ฟังกันครับ ผมขอเริ่มที่ซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าหรือ Fast Fashion ก่อนว่าเป็นอย่างไร จากนั้นผมจะชวนคุยว่า เหตุผลที่ครูลูกกอล์ฟออกมารณรงค์ #Wearวนไป ในมุมมองของซัพพลายเชนนั้นเพราะอะไร
ซัพพลายเชนของอุตสาหกรรม Fast Fashion
เมื่อพูดถึง Fast fashion สิ่งแรกที่นึกถึงเลยคือ “ความรวดเร็ว (speed)” ที่เป็นหนึ่งใน key success factor ของอุตสาหกรรมนี้ แบรนด์เสื้อผ้าส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 5-6 สัปดาห์ในการดีไซน์ ผลิตและออกวางจำหน่ายได้ โดยที่จะมีเสื้อผ้าคอลเล็คชั่นใหม่ๆออกสู่ตลาดทุกสัปดาห์เพื่อดึงดูดขาช้อปให้เข้ามาดูสินค้าบ่อยมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการเรียกอุตสาหกรรมนี้ว่า Fast fashion ผมขอยกตัวอย่างเสื้อผ้าแบรนด์ Zara ที่เป็นแบรนด์ดังจากประเทศสเปนที่ใช้เวลาทั้งหมด 25 วันตั้งแต่การดีไซน์ ผลิตและจัดจำหน่ายหน้าร้าน โดยมี timeline คร่าวๆดังนี้ (อ้างอิงจาก The Wall Street Journal)
- วันที่ 1: ดีไซเนอร์ในประเทศสเปนออกแบบเสื้อผ้าคอลเล็ดชั่นใหม่โดยดีไซน์จากเทรนด์ใหม่ล่าสุด
- วันที่ 2-5: สร้างแบบและแพทเทิร์นของเสื้อผ้าขึ้นมา
- วันที่ 6-21: ส่งแบบและแพทเทิร์นให้โรงงานเผื่อผลิตเสื้อผ้าออกมา
- วันที่ 22-24: กระจายสินค้าออกสู่ศูนย์กระจายสินค้า – Distribution Centre (DC) เพื่อที่จะกระจายสินค้าต่อไปยังหน้าร้าน
- วันที่ 25: เสื้อผ้าได้นำไปจัดโชว์และขายหน้าร้าน
โมเดลธุรกิจของอุตสาหกรรม Fast fashion
เนื่องจากตามบริบทของธุรกิจ Fast fashion นี้ที่ต้องอาศัยความรวดเร็วในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า การจัดการซัพพลายเชนจึงต้องมีความยืดหยุ่นและรวดเร็วต่อธุรกิจแฟชั่นในการนำเสนอสินค้าใหม่ให้ได้ทุกสัปดาห์ มีต้นทุนการผลิตต่ำ เคยสังเกตไหมครับว่าหลังๆมานี้ เสื้อผ้า Fast fashion มีราคาค่อนข้างต่ำ เรียกได้ว่ามีเงินหลักสิบก็สามารถซื้อเสื้อผ้าได้ เบื้องหลังภายใต้ต้นทุนที่ถูกมากเช่นนี้ตามาด้วยผลกระทบมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อม เรื่องแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ที่ผมจะอธิบายในหัวข้อถัดไป
เหตุผลที่ #Wearวนไป เป็นเรื่องที่คนควรให้ความสนใจ มีเหตุผลสนับสนุนอยู่มากมาย ผมขอแบ่งเป็น 2 ประเด็นด้วยกัน
-
เรื่องสิ่งแวดล้อม:
เรื่องสิ่งแวดล้อมในแต่ละปี อุตสาหกรรม Fast fashion ผลิตเสื้อผ้าออกมาเป็น 80,000 ล้านตัน/ปี ผู้ผลิตจะต้องใช้ทรัพยากรมหาศาลไม่ว่าจะเป็น ทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่น น้ำ ทรัพยากรมนุษย์ ไฟฟ้า โรงงงานการผลิตต่างๆ ผลที่ตามมาคือการทำลายสิ่งแวดล้อม การปล่อยมลพิษทางน้ำและอากาศ และรวมไปถึงการเกิดขยะจากเศษผ้าอีกด้วย หากคุณยังมองไม่เห็นภาพการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติและการทำลายสิ่งแวดล้อมของ Fast fashion ผมมีสถิติที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังครับ
-
- อ้างอิงจาก World Economic Forum ปี 2563 – อุตสาหกรรม Fast fashion เป็นผู้ผลิตที่ใช้น้ำเยอะที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆคือ ในการผลิตเสื้อผ้าฝ้าย (cotton shirt) 1 ตัว จะต้องใช้น้ำถึง 2,700 ลิตร ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่คนสามารถอยู่ได้ถึง 1.5 ปีเลยทีเดียว
- 60% ของเสื้อผ้าใช้โพลีเอสเตอร์ในการผลิต ตัวโพลิเอสเตอร์นี้เป็นตัวการสำคัญที่ผลิตก๊าซคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศมากกว่าการใช้ผ้าฝ้ายถึง 3 เท่า และเป็นต้นเหตุของการเกิดมลพิษที่เกิดจากพลาสติกปล่อยลงสู่ทะเลอีกด้วย
- อุตสาหกรรม Fast fashion เป็นอันดับ 2 จากอุตสาหกรรมทั้งหลายที่ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำมากที่สุด ทั้งนี้เป็นเพราะขั้นตอนการย้อมสีที่โรงงานจะทิ้งน้ำเสียลงสู่แม่น้ำ ทะเล
-
เรื่องสิทธิมนุษย์ขั้นพื้นฐานของแรงงานในอุตสาหกรรม Fast fashion:
ภายใต้ต้นทุนการผลิตที่ต่ำของเสื้อผ้า อุตสาหกรรม Fast fashion ที่เป็นที่เลื่องชื่อของการใช้แรงงานแบบผิดกฏหมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้แรงงานเด็ก การกดขี่แรงงาน การละเมิดสิทธิมนุษย์ขั้นพื้นฐานของแรงงาน ผมมีตัวเลขที่ค่อนข้างน่าตกใจแต่ไม่เหนือความคาดหมายมาให้ดูกันครับ
- สถิติจาก World Resource Institute แรงงานผู้หญิงในประเทศบังกลาเทศได้เงินเดือนประมาณ 3,168 บาท ($96) ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานของประเทศถึง 5 เท่าเพื่อที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ตาม basic needs
- รายงานของกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาปี 2561 แสดงให้เห็นถึงการใช้แรงงานเด็กและการบังคับใช้แรงงานในประเทศอาร์เจนตินา บังกลาเทศ จีน บราซิล อินเดีย ตุรกี และประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลลิปปินส์ เวียดนาม
- ข้อมูลจากเว็บไซต์ Fashion Checker ปี 2564 ได้เปิดเผยข้อมูลผลสำรวจจาก 250 แบรนด์เสื้อผ้าว่ากว่า 93% จ่ายค่าแรงที่ไม่เป็นธรรมและไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต
ถึงแม้ว่าในช่วงหลายปีให้หลังมานี้ คนค่อนข้างจะตื่นตัวกับการทำให้อุตสาหกรรม Fast fashion มีความยั่งยืนมากขึ้น โดยการนำ Sustainable Development Goals (SDGs) เข้ามาช่วยในการพัฒนาธุรกิจในวงการ Fast fashion เติบโตไปอย่างยั่งยืน หากธุรกิจต้องการความยั่งยืนและผู้บริโภคให้ความสำคัญและสนับสนุน เราจะสามารถช่วยธุรกิจ Fast fashion สามารถเติบโตไปได้อย่างยั่งยืนพร้อมกับผู้บริโภค ผมขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาของแบรนด์ H&M ที่เค้าปรับตัวให้โตแบบยั่งยืนและยังมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดนี้ครับ
กรณีศึกษา: H&M Sustainable Fashion
ด้านสิ่งแวดล้อม
H&M เป็นแบรนด์แรกที่ออกมาเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมโดยการเปลี่ยนโมเดลการผลิตเสื้อผ้าแบบ Fast fashion ให้เป็น Circular fashion system หรือระบบแฟชั่นแบบหมุนเวียน โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบว่าจะต้องออกแบบเสื้อผ้าให้มีอายุการใช้งานยาวเป็นหลัก กระบวนการผลิต จะต้องใช้วัตถุดิบที่สามารถนำใช้ซ้ำได้อีกและลดการใช้สารเคมีและน้ำในลำดับถัดไป นอกจากนี้ H&M ยังมีแผนลดขยะจากเสื้อผ้าโดยการรีไซเคิลเพื่อให้ลูกค้านำเสื้อผ้ากลับมารีไซเคิลแลกกับบัตรกำนัลมูลค่า 5 ยูโร ในเรื่องของแผนงานความยั่งยืนระยะยาวของ H&M คุณ Giorgina Waltier – ผู้จัดการด้านความยั่งยืนมีเป้าหมายว่า ภายในปี 2574 แบรนด์มีเป้าหมายจะใช้วัสดุที่มาจากแหล่งที่ยั่งยืน 100% และภายในปี 2584 แบรนด์จะบรรลุเป้าหมาย Climate positive หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นลบ
ด้านการใช้แรงงานมนุษย์
H&M ได้ยืนหยัดแสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อการใช้แรงงานอุยกูร์ในการผลิตฝ้ายสำหรับเสื้อผ้าเมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา และได้แสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ว่าแบนการใช้ฝ้ายของซินเจียที่ใช้แรงงานอุยกูร์เป็นหลัก
จะเห็นได้ว่า บทความที่ผมเขียนมาข้างต้นทั้งหมดนั้น ผมอยากให้ทุกท่านตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืนในซัพพลายเชนว่าเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้อีกแล้ว ที่นัก Social influencer หลายๆคนได้ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เพราะว่าอุตสาหกรรม Fast fashion นั้นได้สร้างผลกระทบให้กับโลกเป็นวงกว้างไม่ว่าจะเป็นด้านทำลายสิ่งแวดล้อมและความไม่เป็นธรรมกับแรงงาน ในตัวธุรกิจเอง ผมมองว่าหากธุรกิจมีการปรับตัวแบบกรณีศึกษาของ H&M ที่มีเป้าหมายในการเติบโตไปอย่างยั่งยืนนั้น จะเป็นกระจกสะท้อนกลับมาว่ามันถึงเวลาแล้วที่คู่แข่งก็ต้องมีการเตรียมตัว วางแผนเรื่องความยั่งยืนและเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกันครับ