ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความยั่งยืน จะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในภาคธุรกิจ ในมุมมองของซัพพลายเชนเองนั้น เราสามารถช่วยภาคธุรกิจในการบรรลุความยั่งยืนได้ นอกจากนี้เอง องค์การสหประชาชาติได้จัดตั้ง “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือที่รู้จักกันในชื่อ Sustainable Development Goals – SDGs ขึ้นมาเพื่อเป็นเป้าหมายในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกัน
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) คืออะไร?
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) คือเป้าหมายการพัฒนาโดยอาศัยกรอบความคิดที่มองการพัฒนาเป็นมิติ (Dimensions) ของ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้มีความเชื่อมโยงกัน จัดตั้งโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ซึ่งจะใช้เป็นทิศทางการพัฒนาตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2558 ถึงเดือนสิงหาคม 2573 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี โดยประกอบไปด้วย 17 เป้าหมาย
- GOAL 1. ขจัดความยากจน : No Poverty
- GOAL 2. ขจัดความหิวโหย : Zero Hunger
- GOAL 3. มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี : Good Health and Well-being
- GOAL 4. การศึกษาที่เท่าเทียม : Quality Education
- GOAL 5. ความเท่าเทียมทางเพศ : Gender Equality
- GOAL 6. การจัดการน้ำและสุขาภิบาล : Clean Water and Sanitation
- GOAL 7. พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ : Affordable and Clean Energy
- GOAL 8. การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ : Decent Work and Economic Growth
- GOAL 9. อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน : Industry, Innovation and Infrastructure
- GOAL 10. ลดความเหลื่อมล้ำ : Reduced Inequality
- GOAL 11. เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน : Sustainable Cities and Communities
- GOAL 12. แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน : Responsible Consumption and Production
- GOAL 13. การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : Climate Action
- GOAL 14. การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล : Life Below Water
- GOAL 15. การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก : Life on Land
- GOAL 16. สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก : Peace and Justice Strong Institutions
- GOAL 17. ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน : Partnerships to achieve the Goal
ในทั่วโลก ผู้คนมากกว่า 800 ล้านคน ยังคงอยู่ได้ด้วยเงินน้อยกว่า 1.25 ดอลลาห์ต่อวัน หลายคนยังขาดการเข้าถึงอาหาร น้ำดื่มที่สะอาดและสุขอนามัยที่เพียงพอ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในประเทศจีนและอินเดีย ได้ช่วยยกระดับประชากรออกจากความยากจน แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ผู้คนหลายหลุดพ้นจากการเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม ประชากรผู้หญิงมีสัดส่วนที่อยู่ในความยากจนมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากการเข้าถึงที่ไม่เท่ากันในเรื่องค่าแรงงาน การศึกษาและทรัพย์สิน SDGs มีเป้าหมายที่จะขจัดความยากจนในทุกรูปแบบให้แล้วเสร็จภายในปี 2573 ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่อาศัยอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงในการเข้าถึงทรัพยากรและการบริการขั้นพื้นฐาน รวมถึงช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน
บทบาทของซัพพลายเชนต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs)
จริงๆแล้วในกระบวนการทำงานของซัพพลายเชน ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ สามารถส่งเสริมให้มีการดำเนินงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีผลกระทบโดยตรง แต่เมื่อทำร่วมกันทั้งซัพพลายเชนแล้วจะเห็นผลลัพธ์ได้ชัดเจน ในเป้าหมายทั้ง 17 ข้อ บทบาทของซัพพลายเชนที่จะทำเห็นผลได้โดยตรงคือ เป้าหมายที่ 8 – การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Decent Work and Economic Growth) และเป้าหมายที่ 12 – แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production)
เป้าหมายที่ 8 – การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Decent Work and Economic Growth) มีวัตถุประสงค์จะส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนโดยบรรลุเป้าหมายการผลิตในระดับที่สูงขึ้นและผลิตผ่านนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และมีมาตรการในกำจัดการบังคับใช้แรงงานทาสและการค้ามนุษย์ ภายในปี 2573 จะต้องเกิดการจ้างงานเต็มรูปแบบ ไม่มีการใช้แรงงานทาส การค้ามนุษย์และสร้างการทำงานที่เหมาะสมสำหรับทุกเพศ ในบทบาทของซัพพลายเชน เราสามารถผลักดันให้บริษัทบรรลุการจ้างงานเต็มที่โดยมีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียกัน การปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมไปถึงแรงงานต่างด้าวและผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย นอกจากนี้เองในการซื้อ-ขายวัตถุดิบกับซัพพลายเออร์ บริษัทสามารถทำ Sustainable procurement ได้อีกด้วย นั่นคือ การจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงครอบคลุมประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ ในด้านสังคมนี้เอง การจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก เช่น การต่อต้านการใช้แรงงานที่ผิดกฏหมาย เช่น แรงงานทาส แรงงานเด็ก
เป้าหมายที่ 12 – แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production) มีวัตถุประสงค์ในลดรอยเท้าทางนิเวศน์ (Ecological Footprint – ผลกระทบจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่ส่งผลต่อระบบนิเวศน์) ลงอย่างเร่งด่วน โดยการเปลี่ยนแปลงการผลิตและการบริโภคสินค้าและทรัพยากร การจัดการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายนี้ พวกเราในฐานะชาวซัพพลายเชน สามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ลดการใช้ทรัพยากรโดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วย รวมไปถึงการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ (Packaging) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมองไปจนถึงการนำบรรจุภัณฑ์เหล่านี้กลับมารีไซเคิลและนำไปเกิดการใช้ประโยชน์ต่อไป กิจกรรมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของซัพพลายเชนทั้งสิ้น
จะเห็นได้ว่าหน่วยงานซัพพลายเชนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทในการขับเคลื่อนและพัฒนาบริษัทให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ซัพพลายเขน กูรูขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ภาคธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น ทุกความสำเร็จเริ่มต้นได้ด้วยตัวเรา ถึงแม้ความสำเร็จทางด้านความยั่งยืนอาจใช้เวลาและความร่วมมือกันในหลายภาคส่วน แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นจะทำให้ทุกฝ่ายเติบโตไปได้ด้วยกันอย่างยั่งยืน
อ้างอิง: https://www.un.or.th/globalgoals/th/global-goals/responsible-consumption-and-production/
https://www.un.org/development/desa/disabilities/envision2030.html
https://packaging.oie.go.th/new/admin_control_new/html-demo/file/2196340587.pdf