เนื่องด้วยวันที่ 25 มีนาคมของทุกปี เป็นวันรำลึกถึงผู้ตกเป็นเหยื่อของการใช้แรงงานทาสและการค้าทาส การใช้แรงงานผิดกฏหมายนั้นเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้องค์กรไม่สามารถทำธุรกิจและจัดการซัพพลายเชนได้อย่างยั่งยืน ถึงแม้ว่าองค์กรคุณเองได้มีการจัดการความยั่งยืนแล้ว หากซัพพลายเออร์ของคุณยังไม่มีหลักการดำเนินงานภายใต้กรอบความยั่งยืนก็จะทำให้องค์กรคุณไม่บรรลุเป้าหมายความยั่งยืนเช่นเดียวกัน จากที่ซัพพลายเชน กูรู ได้เคยนำเสนอข่าวสารไปในบทความที่ผ่านมา ในหลายๆ อุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอ (Garment) หรืออุตสาหกรรมการประมงเองที่มีข่าวออกมาถึงการใช้แรงงานที่ผิดกฏหมาย ไม่ว่าจะเป็น การใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานทาส การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงาน เพื่อเป็นการรำลึกถึงการใช้แรงงานทาส ทางซัพพลายเชน กูรู ขอนำเสนอเรื่องของการใช้แรงงานแบบผิดกฏหมายในซัพพลายเชนการประมง และที่มาของแอปพลิเคชันคุ้มครองแรงงานชาวประมง – “พื้นที่ปลอดภัย” ต่อการค้ามนุษย์ ที่ทางบริษัท แมสต์ ฮิวแมน จำกัด (กิจการเพื่อสังคม) ได้คิดค้นและพัฒนาแอปพลิเคชันตัวนี้ขึ้นมา เพื่อให้คนตระหนักถึงการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมการประมงและทราบถึงประโยชน์ที่ได้จากการพัฒนาแอปพลิเคชันนี้
แอปพลิเคชันคุ้มครองแรงงานชาวประมง – “พื้นที่ปลอดภัย” ต่อการค้ามนุษย์
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันผู้บริโภคทั้งไทยและต่างประเทศมีการตื่นตัวและให้ความสำคัญกับอาหารที่รับประทานว่า มีการจัดหา (Sourcing) มาได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาหารทะเล ในหลายปีให้หลังมานี้ การประมงในประเทศไทยที่มีข่าวเกี่ยวกับการใช้แรงงานแบบผิดกฏหมาย ไม่ว่าจะเป็นแรงงานทาส แรงงานเด็ก การใช้แรงงานเกินเวลา รวมไปถึงการละเมิดสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน ประจวบกับสารคดีดังใน Netflix เรื่อง SeaSpiracy ที่ตีแผ่ชีวิตของแรงงานชาวประมง ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมจากผู้บริโภคส่งต่อขึ้นไปในซัพพลายเชนของการประมง ไปถึงต้นน้ำตั้งแต่การจับปลา มายังภาคเอกชน และส่งต่อมายังผู้บริโภคว่ามีความโปร่งใสเพียงใด
จะดีกว่าไหม หากเราจะมีเครื่องมือหรือแอปพลิเคชันที่ใช้ในการคุ้มครองแรงงานชาวประมงเพื่อเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” สำหรับพวกเค้าและดำรงไว้ซึ่งสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานที่พวกเค้าควรจะได้รับ
วันนี้ทางซัพพลายเชน กูรู ได้รับเกียรติจากคุณดรณภา สุกกรี หรือ คุณดาว – ผู้ก่อตั้งบริษัท แมสต์ ฮิวแมน จำกัด (กิจการเพื่อสังคม) และเป็นผู้คิดริเริ่มไอเดีย “แอปพลิเคชันเพื่อพี่น้องชาวประมง – MAST Human Intelligence” แอปพลิเคชันที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ให้กับชาวประมงทั้งชาวไทยและชาวต่างด้าวเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานต่อการค้ามนุษย์ (Human trafficking) และกิจกรรมที่ผิดกฏหมาย (Illegal activities) และติดตามของความเป็นอยู่ (Well-being) เมื่อออกรอบเรือในแต่ละครั้ง
ก่อนที่จะไปรู้จักกับแอปพลิเคชันนี้ เรามาทำความเข้าใจซัพพลายเชนของการประมงไทยกันก่อน ตามด้วยความเป็นมาของการแอปพลิเคชันนี้ การทำงานของแอปฯ และประโยชน์อย่างมหาศาลที่จะได้จากแอปฯนี้
ซัพพลายเชนของการประมงไทย
อ้างอิงจากกองนโยบายและแผนพัฒนาการประมงในปีพ.ศ. 2563 ประเทศไทยส่งออกสินค้าทางการประมงใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง การส่งออกทั้งหมดคิดเป็นมูลค่ากว่า 197,590 ล้านบาท (1.5 ล้านตัน) ประเทศไทยมีเรือประมงทั้งหมดมากกว่า 32,000 ลำ มีแรงงานทั้งหมดเกือบ 190,000 คน โดยแบ่งเป็นแรงงานสำหรับประมงพาณิชย์ 155,000 กว่าคนและแรงงานเรือประมงพื้นบ้านอีกกว่า 32,000 คน ในการออกเรือแต่ละครั้งใช้เวลาเป็นหลักอาทิตย์ จนถึงหลักเดือน การดูแลความเป็นอยู่ของชาวประมงทุกคนจึงเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อชาวประมงหาปลามาเรียบร้อยแล้ว ทางชาวประมงจะส่งต่อให้กับสถานแปรรูปปลาเบื้องต้นหรือสะพานปลา จากนั้นปลาจะถูกส่งต่อไปยังโรงงานแปรรูปที่ได้ตามมาตรฐาน GMP และ HACCP เมื่อแปรรูปสำเร็จ ทางโรงงานจะส่งออกตลาด ซึ่งแบ่งเป็นการบริโภคในประเทศ 2.2 ล้านตันและส่งออกจำนวน 1.5 ล้านตัน ตลาดที่ประเทศไทยส่งออกเป็นอันดับต้นคือประเทศในกลุ่มทวีปยุโรป
เมื่อปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยได้ “ธงเหลือง” จากสหภาพยุโรป เป็นการส่งสัญญาณเตือนว่าประเทศยังไม่มีการแก้ไขปัญหา อย่างเป็นรูปธรรมในการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU Fishing (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing – การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม) จากเหตุการณ์ที่ภาคเอกชนรายใหญ่ของประเทศไทยได้ถูกประเทศในยุโรปส่งสัญญาณเตือนเรื่องการใช้แรงงานอย่างผิดกฏหมาย ส่งผลให้เกิดการปฏิรูปวงการประไทยครั้งสำคัญ เช่น มีการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งมีบทลงโทษที่รุนแรงถึงขั้นปิดโรงงานได้เลย มีโทษปรับสูงสุดถึง 30 ล้านบาท และมีพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ที่มีบทลงโทษค่อนข้างแรงในผู้ประกอบการ ประจวบกับกฏหมายทางสหภาพยุโรปเองที่ได้มีความเข้มข้นมากขึ้นและมีผลบังคับใช้กับประเทศส่งออกสินค้าทางการประมง รวมไปถึงประเทศไทยด้วย เช่น มีมาตรการให้ทำ Due diligence ในทุกส่วน และมี Supply Chain Act ของประเทศเยอรมันที่มีการบังคับให้ทำ Due diligence เรื่องสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลบังคับใช้เดือนมกราคมปี พ.ศ. 2566 นี้ เพราะฉะนั้น การใช้แอปพลิเคชันนี้เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อแสดงความโปร่งใสของซัพพลายเชนการประมง
ความเป็นมาของแอปพลิเคชัน MAST Human Intelligence
ก่อนหน้าที่คุณดาวจะมาริเริ่มสร้างแอปฯตัวนี้ คุณดาวเป็นนักกฏหมายด้าน International Trade มาก่อน คุณดาวได้ศึกษาข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้องและใช้มาเป็นแรงผลักดันทำให้เกิดเป็นไอเดียนี้ขึ้นมา คุณดาวทุ่มเทเวลาให้กับการสร้างแอปฯ เพื่อที่จะช่วยคุ้มครองสิทธิของชาวประมงเพื่อไม่ให้เกิดการค้ามนุษย์และใช้แรงงานทาสเกิดขึ้นซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่นี้ จะต้องใช้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาล ภาคเอกชน กลุ่มชาวประมงเองด้วย คุณดาวได้รับการสนับสนุนจากบริษัทพัฒนาแอพอันดับหนึ่งจากสหรัฐอเมริกาที่ช่วยรับผิดชอบเรื่องการพัฒนาแอพ มีทีมงานนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data scientist) กว่า 20 คนที่จะช่วยซัพพอร์ตแอปฯนี้ ในส่วนของการดำเนินงานในประเทศไทย ทาง United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC – สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ) ซึ่งองค์กรหลักที่กำกับดูแลปฏิบัติการให้เป็นไปพันธกรณีของพิธีสารว่าด้วยการต่อต้านการค้ามมนุษย์ (Palermo Protocol) ได้ช่วยสนับสนุนอุปกรณ์และเทคโนโลยีต่างๆเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินงานของ MAST ในโครงการนี้ นอกจากนี้ ยังมีบกรมสอบสวนคดีพิเศษ (Department of Special Investigation – DSI) ในการทำกิจกรรมสร้างเสริมความตระหนักเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในภาคการประมงอีกด้วย
ปัจจุบันคุณดาวแชร์ว่า บริษัทกำลังทดสอบการใช้งานแอปฯนี้อยู่ในขั้นตอนสุดท้าย คาดว่าจะเริ่มใช้งานได้ในปลายปีนี้ โดยมีเป้าหมายว่าจะได้ 150,000 ผู้ใช้ภายในระยะเวลา 2 ปี
การทำงานของแอปพลิเคชัน MAST Human Intelligence
การทำงานของแอปฯ จะออกแบบมาให้ง่ายต่อผู้ใช้ ผู้ใช้เพียงลงทะเบียน ใส่รายละเอียดการออกเรือ แอปฯจะช่วยคำนวนรายได้ที่ชาวประมงควรจะได้รับและระยะเวลาในการออกประมงในแต่ละรอบ พร้อมกับมี GPS คอยติดตามพิกัดที่ชาวประมงอยู่ได้แบบเวลาจริง เพื่อให้ชาวประมงมั่นใจว่า เค้ามีผู้คอยดูแลอยู่ ในกรณีสัญญาณของเค้าหายไปเกินกว่า 48 ชั่วโมงตามกำหนดการเดินทางกลับเข้าฝั่ง ระบบจะแจ้งเตือนไปยัง Emergency Contact เพื่อให้ญาติที่อยู่บนฝั่งจะได้ทราบถึงความผิดปรกติและจะได้ติดต่อสอบถามกับบริษัทเจ้าของเรือหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อไป
สิ่งที่ทีมงานประทับใจในแอปฯนี้ คือ ความใส่ใจในการออกแบบฟังก์ชั่นเพื่อแก้ไข pain point ที่มีในปัจจุบัน เรียกได้ว่า แอปพลิเคชันนี้เป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ให้กับชาวประมงจริงๆ อาทิเช่น
- Whistle blower report: ชาวประมงสามารถร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายเช่น การใช้แรงงานผิดกฏหมาย การละเมิดสิทธิแรงงานได้ในแอปฯนี้โดยไม่ต้องกังวลถึงการนำข้อมูลออกมาเปิดเผย
- Physical location tracking: การติดตามพิกัดที่ชาวประมงอยู่แบบเวลาจริงโดยใช้ GPS, cell tower, Wi-Fi และ transponder
- Vessel review system: ชาวประมงสามารถรีวิวเรือประมงที่ไปทำงานได้ ชาวประมงคนอื่นๆก็สามารถอ่านรีวิวได้เช่นกัน (ทำระบบการรีวิวคล้ายๆพวก Travel agency)
- Emergency alert: มีปุ่มฉุกเฉินสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน จากนั้นระบบจะส่งเรื่องไปยังผู้ที่เป็นผู้ติดต่อยามฉุกเฉิน และในอนาคตอาจมีการลิ้งค์ข้อมูลไปที่ภาครัฐ เช่น ศูนย์ PIPO
- Audio function: แอปฯ มีฟังก์ชั่นอัดเสียงที่ชาวประมงสามารถอัดเสียงของตนเองและแอปฯจะแปลเป็นภาษาอังกฤษ ไทย พม่าและกัมภูชาได้ เพื่อให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ประโยชน์ที่ประเมินค่าเป็นตัวเลขไม่ได้
แน่นอนว่า แอปพลิเคชันนี้จะสามารถช่วยเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ให้กับชาวประมงได้จำนวนมหาศาล ประโยชน์ที่ได้จากแอปฯ นี้ไม่สามารถประเมินค่าได้เลยกับชีวิตของชาวประมง เรามาดูประโยชน์ที่ชาวประมงจะได้รับกันค่ะ
- ชาวประมงทราบสิทธิตามกฎหมายของตนเอง สามารถตรวจสอบรายได้และระยะเวลาในการออกประมงแต่ละรอบ
- มีการตรวจสอบพิกัดของชาวประมงแบบเวลาจริง (real time) หากสูญหายจะมีข้อมูลของวัน เวลาและ last location เพื่อเป็นข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อทำสืบสวนสอบสวนต่อไป
- มี “ปุ่มฉุกเฉิน” สำหรับแจ้งเหตุร้าย ระบบจะแจ้งเตือนโดยอัตโนมัติไปที่ศูนย์ของ MAST App และ Emergency Contact ซึ่งต่อไปในอนาคตหากได้รับความร่วมมือจากภาครัฐก็จะมีการส่งข้อมูลการแจ้งเหตุร้ายไปยังภาครัฐ เช่น ศูนย์ PIPO หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวประมงอย่างทันท่วงทีต่อไป
- หากพบเห็นเหตุการณ์การละเมิดแรงงานหรือการทำประมง IUU ชาวประมงสามารถส่งภาพ/เสียง ให้ MAST แอปฯ ได้
- มีความปลอดภัยในการเก็บข้อมูล ชาวประมงสามารถใช้ข้อมูลส่วนนี้เป็นหลักฐานในการยื่นฟ้องร้องได้
- แอปพลิเคชันนี้เป็นแอปฯ ที่ส่งเสริมให้เกิดการสื่อสารกันทั้ง 2 ฝ่าย (2-way communication) ระหว่าง ผู้ใช้งานและ MAST
อย่างที่ทราบกันว่า แอปพลิเคชันนี้ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะชาวประมงเท่านั้น แอปฯ นี้ยังช่วยให้ผู้ประกอบการภาคเอกชน ภาครัฐบาลได้รับประโยชน์อีกด้วย
- ภาคเอกชนและภาครัฐบาลสามารถใช้แอปพลิเคชันนี้ในการติดตามและตรวจสอบความโปร่งใสในการใช้แรงงานได้ในอุตสาหกรรมการประมง
- แอปพลิเคชันนี้ทำให้เกิดความโปร่งใสในการใช้แรงงานในอุตสาหกรรมการประมงและช่วยทำให้มั่นใจว่า ชาวประมงไม่โดนละเมิดสิทธิมนุษยชนและไม่มีการใช้แรงงานแบบผิดกฏหมาย
- แอปพลิเคชันนี้สอดคล้องและปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับ Modern Slavery และ Supply Chain Transparency
- การใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วย จะทำให้การเก็บข้อมูลมีประสิทธิภาพและสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไปได้ในอนาคต
จากการทุ่มเทสร้างแอปพลิเคชันนี้ของคุณดาวถือเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในสังคมไทย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนเองจะได้มีเครื่องมือในการตรวจสอบและติดตามการใช้แรงงานชาวประมงให้ถูกกฏหมายและสร้างความโปร่งใสในซัพพลายเชนการประมง เพื่อที่จะตอบโจทย์กับ Human Right Due Diligence ของทางยุโรป ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สำคัญของอุตสาหกรรมการประมงไทย และช่วยให้แรงงานชาวประมงเองมีความปลอดภัยและมั่นใจว่า “เสียงของเค้ามีความหมาย” การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดไม่ได้เลยหากไม่ได้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน หากคุณสนใจหาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง MAST และแอปพลิเคชัน คุณสามารถเข้าเว็บไซต์ MAST ได้ที่นี่เลยค่ะ
ซัพพลายเชน กูรู และทีมงานขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและผลักดันให้ประเทศไทยมีแอปพลิเคชันดีๆที่จะช่วยตรวจสอบและติดตามการใช้แรงงานชาวประมงให้ถูกกฏหมายอย่างยั่งยืนค่ะ