บทบาท IoT กับการจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน

Supply Chain Guru Logo 1
global-connections-min

ในปัจจุบัน งานซัพพลายเชนได้เจอกับความท้าทายต่างๆมากมาย เช่น การจัดส่งไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ กระบวนการที่ไม่ต่อเนื่องกัน การที่ไม่เห็นสเตตัสของการทำสินค้าแบบ real-time ความไม่โปร่งใสในซัพพลายเชน และความท้าทายในซัพพลายเชนล่าสุดที่ทั้งโลกได้รับผลกระทบก็คือการหยุดชะงักของซัพพลายเชนเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมให้บริษัทสามารถกลับมาทำงานได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน วันนี้อาจารย์หนุ่ม ซัพพลายเชน กูรู มีบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับบทบาท IoT กับการจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืนมาฝากกันครับ

IoT (Internet of Things) คืออะไร?

IoT (Internet of Things) หรืออินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หมายถึง วัตถุ อุปกรณ์ พาหนะ สิ่งของเครื่องใช้ และสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตอื่น ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นโดยมีการฝังตัวของวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซอฟต์แวร์ เซ็นเซอร์ และการเชื่อมต่อกับเครือข่าย ซึ่งวัตถุสิ่งของเหล่านี้ สามารถเก็บบันทึกและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ อีกทั้ง สามารถรับรู้สภาพแวดล้อมและถูกควบคุมได้จากระยะไกล ผ่านโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อเข้ากับสมาร์ทโฟนเท่านั้น แต่ IoT สามารถประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์ทุกอย่างที่ถูกออกแบบมาให้เชื่อมโยงกันได้บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อที่จะสามารถสื่อสารกันได้

development-service-smart-house-iot-technology-network-programming-min

Things (สรรพสิ่ง) ในความหมายของ IoT หมายถึงอะไร

ในความหมายของ IoT “สรรพสิ่ง” หมายถึง อุปกรณ์ สิ่งของเครื่องใช้ที่แตกต่างหลากหลาย เช่น เครื่องจักรต่าง ๆ ในโรงงาน รถยนต์ สกู๊ตเตอร์ จักรยานที่มีเซ็นเซอร์ในตัว เครื่องใช้ภายในบ้าน กล้องอัจฉริยะ นาฬิกาเด็ก อุปกรณ์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ แท็กไบโอชิปที่ติดกับปศุสัตว์ อุปกรณ์วิเคราะห์ดีเอ็นเอในสิ่งแวดล้อมหรืออาหารและอื่น ๆ ซึ่งไม่เว้นแม้ เสียงพูดสั่งงานของมนุษย์

IoT กับการจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน

  1. ทำให้การจัดการซัพพลายเชนโปร่งใสมากยิ่งขึ้น:

    ต่อไปเรื่องความโปร่งใสในการจัดการซัพพลายเชนจะไม่ใช่แค่ “สิ่งที่ควรจะทำ” แต่เป็น ”สิ่งที่ต้องทำ” ที่ทุกบริษัทหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้อมูลตรงนี้มีประโยชน์มากกับทั้งตัวบริษัทเอง ลูกค้า และ marketplace ต่างๆ เช่น IoT ช่วยให้ลูกค้าทราบว่า สินค้าที่เค้าจะเลือกซื้อนั้นมีสต๊อกพอเพียงหรือไม่ ถ้าไม่มี สินค้ามีเก็บไว้คลังสินค้าหรือสาขาอื่นหรือไม่ และในขณะเดียวกัน บริษัทก็จะได้ข้อมูลแบบแผนการเลือกซื้อของลูกค้าเพื่อนำไปปรับปรุงจำนวนสต๊อกสินค้าให้แม่นยำยิ่งขึ้นได้ในอนาคต นอกจากนี้ การใช้ IoT ยังช่วยทำให้บริษัทหลีกเลี่ยงการหยุดชะงักในซัพพลายพลายเชนได้ (Supply chain disruption) เพราะ IoT จะช่วยเตือนบริษัทเมื่อเกิดปัญหาขึ้น บริษัทจะได้เข้าไปแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที

  2. ลดของเสีย (waste) ในกระบวนการผลิต:

    นอกจากการใช้ IoT จะทำให้การจัดการซัพพลายเชนโปร่งใสมากขึ้นแล้ว IoT ยังช่วยบริษัทตรวจสอบสภาพของสินค้าได้อีกด้วยว่าสินค้าชิ้นนี้ผ่านตามมาตรฐานหรือไม่ ลองนึกภาพตามว่าหากคุณปล่อยสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพส่งตรงถึงมือลูกค้าคุณ ลูกค้าคุณคงไม่ค่อยแฮ้ปปี้ซักเท่าไหร่ และอาจจะไม่กลับมาซื้อสินค้านี้กับคุณแล้วก็เป็นได้! เพราะฉะนั้นการตรวจเจอสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานก่อนออกจากคลังสินค้าจะสามารถช่วยให้บริษัทส่งกลับไปแก้ไขและนำสินค้าชิ้นใหม่ขึ้นมาทดแทนได้อย่างทันท่วงที ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Pirelli ขายยางล้อรถยนต์ที่ติดเซ็นเซอร์ไว้เพื่อตรวจสอบและควบคุณภาพการผลิตยางเพื่อที่จะลดปริมาณยางล้อเสีย เป็นต้น

    people-working-factory-min

  3. ช่วยให้การทำงานในคลังสินค้าปลอดภัยมากขึ้น:

    ด้วยความล้ำหน้าในเทคโนโลยีของ IoT บริษัทสามารถนำ IoT มาช่วยให้พนักงานในคลังสินค้าทำงานกันอย่างปลอดภัยมากขึ้น เช่น IoT ที่สามารถสวมใส่ข้อมือได้สามารถตรวจจับและเตือนพนักงานว่ากำลังอยู่ในภาวะอันตราย หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่ช่วยทำงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้แทนพนักงานทำ เป็นต้น

  4. ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน:

    แน่นอนว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานนอกจากจะทำให้ลดความผิดพลาดที่เกิดจากคนแล้ว (human error) ยังช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย เช่น ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ สามารถใช้ IoT มาคำนวนเส้นทางที่ดีที่สุดในการขนส่งสินค้าได้ และในการขนส่งแบบ Last-mile delivery บริษัทสามารถนำ Autonomous Vehicle หรือรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติมาใช้งานได้ด้วย ซึ่งในตอนนี้ Amazon บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาก็ได้เริ่มมีการทดลองใช้หุ่นยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติในการขนส่งสินค้า

“ซัพพลายเชน กูรู..รอบรู้เรื่องการจัดการจัดซื้อและซัพพลายเชน”

 

แชร์บทความนี้

Facebook
LinkedIn

ให้เราเป็นผู้ดูแลคุณ

ด้วยประสบการณ์ด้านการจัดซื้อและการจัดการซัพพลายเชนมากว่า 30 ปี