ในนาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก เกรต้า ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) เด็กสาวชาวสวีเดนผู้เป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เกรต้าคือผู้ริเริ่มขบวนการ หยุดเรียนเพื่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Strike) หรือขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคต (Fridays for Future) ซึ่งเป็นขบวนการที่กลุ่มนักเรียนทั่วโลกนัดกันหยุดเรียนทุกวันศุกร์และออกมาชุมนุมเรียกร้องให้ผู้นำโลก นักการเมืองและรัฐบาลในประเทศของตนดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
คำถามต่อไปคือ เกรต้ามีผลกระทบต่อซัพพลายเชนอย่างไร?
จากการที่น้องเกรต้าได้ออกมาเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องมีความเกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนในเรื่องของความโปร่งใสในซัพพลายเชน (Supply Chain Transparency) เนื่องจากผู้บริโภคตระหนักถึงการได้มาของของอุปโภคบริโภค ว่ามีความเป็นมาอย่างไร พฤติกรรมนี้ส่งผลกระทบให้บริษัทจะต้องมีความโปร่งใสตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ ว่ามีขั้นตอนอะไรบ้าง และจะต้องสื่อสารออกไปให้ผู้บริโภครู้ด้วยว่าสินค้าและบริการของบริษัทมีความเป็นมาอย่างไร เพราะฉะนั้น เรื่องความโปร่งใสในซัพพลายเชนจึงเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญและกำลังจับตามองอยู่
ความเป็นมาของความโปร่งใสในซัพพลายเชน
ที่ผ่านมาซัพพลายเชนไม่ได้ถูกออกแบบมาให้โปร่งใส เพราะบริษัทต้องการเก็บบางข้อมูลลับไว้ไม่ให้คู่แข่งทราบและเพื่อป้องกันการวิพากวิจารณ์ต่างๆ นอกจากนี้บางส่วนของซัพพลายเชนก็ไม่มีข้อมูล ไม่สามารถตรวจสอบได้ ถ้าหากจะตรวจสอบก็จะต้องเสียทั้งทรัพยากรเวลาและเงินเป็นจำนวนมาก ด้วยสาเหตุเหล่านี้เอง ความโปร่งใสในซัพพลายเชนจึงเป็นเรื่องที่คนไม่ค่อยกล่าวถึงมากนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป เรื่องการใช้แรงงานทาส แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมอาหารเริ่มแดงขึ้น ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ผู้ประกอบการจึงต้องให้โปรโมทความโปร่งใสในซัพพลายเชนให้ทุกคนเห็นว่าในทุกๆกิจกรรมในซัพพลายเชนจะต้องมีการรายงานและสามารถตรวจสอบได้
ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความโปร่งใสในซัพพลายเชน
เกรต้าเป็นนักเคลื่อนไหวที่มีอิทธิพลกับวัยหนุ่มสาวในปัจจุบันที่ตั้งคำถามถึงความยั่งยืน ซึ่งผลกระทบนี้ทำให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไป ปัจจุบันผู้บริโภคมีความตื่นตัวและให้ความสำคัญกับเรื่องความโปร่งใสในซัพพลายเชนเป็นอย่างมาก เขาจะตระหนักถึงว่ากว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เขาได้ใช้ ต้องผ่านกระบวนการอะไรมาบ้าง โดยเฉพาะผู้บริโภครุ่น Millennial หรือ Gen Y (ผู้ที่เกิดในช่วงปีพ.ศ. 2524-2539) ที่ให้ความสนใจกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้เอง งานวิจัยของ MIT ที่บันทึกไว้ใน Harvard Business Review ได้พูดถึงความโปร่งใสในซัพพลายเชนว่า ผู้บริโภคจะยอมจ่ายเงินมากขึ้น 2-10% จากบริษัทที่สามารถแสดงความโปร่งใสในซัพพลายเชนได้
ตัวอย่างกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความโปร่งใส่ในซัพพลายเชน
ความโปร่งใส่ในซัพพลายเชนจะแบ่งออกเป็นหลายระดับ บริษัทส่วนใหญ่จะควบคุมการดำเนินงานของบริษัทตัวเองและซัพพลายเออร์ tier-1 ได้ หากเป็นซัพพลายเออร์ในระดับอื่นๆ ความยากของการทำให้โปร่งใสก็จะมากขึ้นตามลำดับ ในโลกธุรกิจ อุตสาหกรรมแรกๆที่ทำให้ซัพพลายเชนมีความโปร่งใสคืออุตสาหกรรมอาหารและเสื้อผ้า ที่ผู้บริโภคจะรู้เลยว่าผลิตภัณฑ์นี้มีความเป็นมาอย่างไร ทรัพยากรของโลกได้ถูกรักษาไว้ไหม ใช้แรงงานอย่างถูกกฎหมายหรือไม่
สรุป
การที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญเรื่องความโปร่งใสในซัพพลายเชนมากขึ้นนั้น ไม่ว่าจะมาจาก Greta Thunberg Effect หรือไม่ก็ตาม เรื่องความโปร่งใสในซัพพลายเชนจะไม่เป็น “ทางเลือก” แต่จะกลายเป็น “เรื่องที่ทุกบริษัทต้องทำ” ต่อจากนี้ไป ในเรื่องความยั่งยืนและความโปร่งใสในซัพพลายเชนยังมีอะไรที่บริษัททำได้อีกเยอะและบริษัทเองก็จะได้รับผลประโยชน์จากการทำในส่วนนี้เองอีกด้วย
อ้างอิง: https://blog.worldfavor.com/the-greta-effect-on-supply-chain-transparency-is-real
https://hbr.org/2019/08/what-supply-chain-transparency-really-means