mRNA ฉบับนักซัพพลายเชน

Supply Chain Guru Logo 1
038_mRNA and supply chain

จากการที่โรคโควิด-19 ที่กลับมาระบาดอย่างหนักในไทยด้วยสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ไปจากการระบาดรอบที่ 1 โดยมีสายพันธุ์แอลฟา (อังกฤษ) เดลตา (อินเดีย) และเบตา (แอฟริกา) วัคซีนที่สามารถกระตุ้นภูมิและสร้างภูมิคุ้มกันจากสายพันธุ์เหล่านี้คือวัคซีนประเภท mRNA (อ่านว่า เอ็ม-อาร์-เอ็น-เอ) ย่อมาจาก messenger Ribonucleic Acid เป็นสารพันธุกรรมที่อยู่ในเซลล์ของร่างกาย ทำหน้าที่ออกคำสั่งให้เซลล์ผลิตโปรตีนขึ้นตามรหัสคำสั่งนั้นๆ เป็นกลไกปกติของร่างกาย โปรตีนที่ผลิตในส่วนนี้เอง ที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Antigen) ให้ร่างกายรู้จักกับเชื้อโรคโควิด-19 และสร้างภูมิคุ้มกัน (Antibody) เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้

วันนี้ซัพพลายเชน กูรู มี mRNA ในแบบฉบับของนักซัพพลายเชนมานำเสนอกัน นักซัพพลายเชนควรมีความรู้ ความเข้าใจในคำต่างๆเหล่านี้เพราะคำเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอหน้างานอย่างแน่นอนครับ

m จากคำว่า “Make or Buy Decision” หรือ “การตัดสินใจซื้อหรือผลิตเอง”

การตัดสินใจซื้อหรือผลิตเองคือการตัดสินใจว่าบริษัทจะผลิตสินค้า/วัตถุดิบประเภทนี้เองหรือจะจัดซื้อจากซัพพลายเออร์ บริษัทควรคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ในการตัดสินใจ

  • ต้นทุน
  • คุณภาพ
  • ภาวะการแข่งขัน
  • กำลังการผลิต
  • เทคโนโลยี
  • Economy of scale
  • ความรู้เฉพาะทางของสินค้า/วัตถุดิบ
  • ปริมาณการผลิตที่คุ้มทุน

ส่วนใหญ่แล้ว บริษัทเลือกที่จะผลิตเองถ้าต้นทุนในการลงทุนต่ำ ผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงที่พึ่งพาซัพพลายเออร์สูง สามารถใช้เครื่องจักรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ได้และมีกำลังการผลิตเหลือ ในทางกลับกัน บริษัทจะตัดสินใจซื้อจากซัพพลายเออร์ก็ต่อเมื่อมีต้นทุนการผลิตสูง มีกำลังการผลิตที่จำกัด ซัพพลายเออร์มีความเชี่ยวชาญมากกว่า เป็นต้น

group of people having a good time

R จากคำว่า “Root Cause Analysis (RCA)” หรือ “การวิเคราะห์ต้นเหตุของปัญหา”

Root Cause Analysis คือ การวิเคราะห์ปัญหาเชิงลึกจากระบบหรือขั้นตอนการทำงานของบริษัทหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายให้กับบริษัทเพื่อค้นหาต้นตอของสาเหตุที่แท้จริงว่าคืออะไรและหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม พร้อมทั้งหาทางป้องกันการเกิดปัญหาเดิมซ้ำในอนาคต การทำ Root Cause Analysis นอกจากจะทำให้บริษัทสามารถเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาในกระบวนการทำงานแล้ว การวิเคราะห์ต้นเหตุของปัญหายังนำบริษัทไปสู่การพัฒนาระบบการทำงานอย่างต่อเนื่อง และสร้างผลลัพธ์อื่นๆ ที่ส่งผลดีแก่บริษัท

การทำ Root Cause Analysis เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงกระบวนการทำงานในซัพพลายเชนเป็นอย่างมาก การวิเคราะห์ต้นเหตุของปัญหาทำให้บริษัทสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดโดยมีข้อมูลสนับสนุนโดยใช้เครื่องมือต่างๆในการวิเคราะห์ นั่นคือ Fishbone diagram หรือ แผนภูมิก้างปลา เพื่อจัดการกับข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ และ 5 Why หรือ WHY WHY analysis ในการหาสาเหตุไปทีละจุดจนกระทั่งได้ทราบต้นตอปัญหาที่แท้จริง

fish bone diagram-min

N จากคำว่า “Negotiation” หรือ “การเจรจาต่อรอง”

การเจรจาต่อรองคือ กระบวนการที่มีบุคคลร่วมเจรจา 2 ฝ่ายขึ้นไปที่มีมุมมองต่างกันในช่วงต้น ทุกฝ่ายพยายามบรรลุข้อตกลง วัตถุประสงค์ร่วมกันโดยเลือกใช้วิธีการโน้มน้าวใจแบบต่างๆ ในการเจรจาต่อรองมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันและมุ่งหวังให้ผลประโยชน์หรือข้อกำหนดนั้นบรรลุความต้องการของทุกฝ่าย หรือที่เรียกว่า การเจรจาต่อรองแบบ Win-win

ในซัพพลายเชน การเจรจาต่อรองถือเป็นทักษะที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานจัดซื้อจัดจ้าง การเจรจาต่อรองต้องอาศัยการฝึกฝนและเตรียมตัวเพื่อให้ประสบความสำเร็จ ทักษาการเจรจาต่อรองที่ดีขึ้น สามารถมีส่วนสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันและผลกำไรขององค์กร ทักษะเหล่านี้สามารถพัฒนาได้

A จากคำว่า “Agile” หรือ “อไจล์”

Agile คือหลักความคิดในการบริหารจัดการที่สามารถนำไปประยุกต์ไปใช้กับการทำงาน ข้อสำคัญหลักของ Agile คือการทำงานร่วมกันเป็นทีม การทำงานนั้นจะตั้งอยู่บนเหตุและผลที่เป็นข้อเท็จจริง เพื่อให้แต่ละฝ่ายช่วยกันหาทางออกที่ดีที่สุดให้กันและกัน Agile นำไปสู่การพัฒนากรอบงาน รูปแบบ กระบวนการทำงานที่เป็นระบบ อีกทั้งยังมีการร่วมกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องอีก ซึ่งจะทำให้การพัฒนาสินค้า บริการและบุคลากรมีต่อไปเรื่อย ๆอย่างไม่หยุดสิ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แนวคิดเรื่อง Agile เข้ามามีบทบาทกับงานซัพพลายเชนเพื่อรับมือการปรับเปลี่ยนและความไม่แน่นอนของลูกค้า หากทีมซัพพลายเชนไหนที่สามารถนำเอา Agile เข้าไปปรับใช้กับงานได้มากเท่าไหร่ บริษัทก็จะสามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้มากเท่านั้น

 

“ซัพพลายเชน กูรู..รอบรู้เรื่องการจัดการจัดซื้อและซัพพลายเชน”

แชร์บทความนี้

Facebook
LinkedIn

ให้เราเป็นผู้ดูแลคุณ

ด้วยประสบการณ์ด้านการจัดซื้อและการจัดการซัพพลายเชนมากว่า 30 ปี