การสร้างผู้บริหารให้มีศักยภาพ “ผู้นำ” นั้นไม่ใช่เรื่องที่สามารถจะทำได้เพียงชั่วค่ำคืน หากแต่จะต้องมีการวางแผน Career Path เพื่อวางแผนทักษะ สกิล คุณลักษณะที่ผู้บริหารควรมี ในโลกธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงในปัจจุบัน ผู้บริหารในซัพพลายเชนจะต้องมี Agile mindset ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดบนพื้นฐานของเหตุผลและความเป็นจริง พร้อมทั้งมี Technical skill ที่ดีที่สามารถจัดการซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำได้ ต่อจิ๊กซอว์งานแต่ละงานเข้าร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว
วันนี้ทางทีมงานได้สัมภาษณ์อาจารย์หนุ่ม ดร.ธนพัฒน์ พรรธนะประเทศ ผู้ก่อตั้งซัพพลายเชน กูรู และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดซื้อและซัพพลายเชน ก่อนหน้าที่อาจารย์หนุ่มก่อตั้งซัพพลายเชน กูรู อาจารย์หนุ่มอยู่วงการซัพพลายเชนนี้มากว่า 30 ปี เริ่มตั้งแต่เป็น Junior buyer และได้รับผิดชอบในส่วนต่างๆในซัพพลายเชน ไม่ว่าจะเป็นการผลิต จัดการสินค้าคงคลัง จัดการคลังสินค้า ดูการจัดส่ง เรียกได้ว่า ดูทุก Operations ในซัพพลายเชน จนสุดท้ายได้มาเป็นผู้บริหารระดับสูงสุด Head of Sourcing ในภูมิภาค Asia Pacific (รับผิดชอบประเทศจีน เกาหลี ไทย เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์)
เรื่อง Leadership in Supply Chain อาจารย์หนุ่มเปรียบผู้บริหารที่ไม่ได้ทำหน้าที่ “ผู้บริหาร” เสมือน “หนูถีบจักร” ที่วิ่งไปข้างหน้าโดยไม่รู้จุดหมายแต่สุดท้ายก็วิ่งอยู่ที่เดิม อาจารย์หนุ่มเสริมอีกว่า จากการทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกค้ามากว่า 10 ปี
“องค์กรส่วนใหญ่เน้นพัฒนาทีมงาน พัฒนาน้องๆในทีม ผู้ที่จะถูกโปรโมทขึ้นมาเป็นผู้บริหารส่วนใหญ่มี Technical skill จริง หากแต่ศักยภาพการเป็นผู้บริหารยังมีไม่ครบ องค์กรมองข้ามไปว่า ผู้บริหารก็ต้องการพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้บริหารเช่นกัน กลายเป็นว่า ผู้บริหารไม่ได้นำทีม ไม่ได้มีกลยุทธ์ บางทีทำงานซ้ำกับทีมงานเลย นี่คือ pain point ที่เกิดขึ้นจริงในตลาด”
วันนี้ทีมงานจึงอยากมาแบ่งปันถึงประสบการณ์การเป็นผู้นำในซัพพลายเชนในมุมมองของอาจารย์หนุ่ม ผู้ที่เคยเป็นผู้นำในซัพพลายเชนมาก่อน อาจารย์หนุ่มได้ทำจริง ใช้จริงมาก่อนแล้วและพิสูจน์ว่า มันเวิร์คมากๆให้กับผู้บริหาร ผู้นำทุกคน หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนค่ะ
คำว่า Leadership ในนิยามของอาจารย์หนุ่มคืออะไร?
ก่อนอื่นเลย คนมักมีความเข้าใจผิดว่า Leadership คือ ความเป็นเจ้านาย ผู้จัดการ ที่จะมีหน้าที่สั่งงานและไม่สามารถโน้มน้าวใจคนทำงานได้ ทำให้คนไม่อยากทำงาน ในขณะที่คำว่า Leadership คือการมีภาวะผู้นำในด้านความคิด นำการปฏิบัติ และช่วยเหลือทีมงานให้บรรลุเป้าหมายไปด้วยกัน Leadership จะเป็นคนที่เข้าใจความต้องการของบริษัท ซัพพลายเออร์ ลูกค้า และทีมงานว่าเป้าหมายของพวกเค้าคืออะไร และนำส่งผลลัพธ์ตามเป้าหมาย
อาจารย์หนุ่มยังเสริมอีกว่า ในความเป็น Leadership เองจะต้องมีลีลาการจัดการที่เกิดจากการฝึกฝน เก็บสะสมประสบการณ์มาเพื่อใช้ในการสร้างบรรยากาศการทำงานให้เป็นทีมหนึ่งเดียว ดึงศักยภาพทีมงานออกมาให้เค้าได้เกิดการมีส่วนร่วม (involvement) เพื่อให้พนักงานทำงานด้วยความเต็มใจ นอกจากนี้คนที่มีภาวะผู้นำจะต้องมีแนวคิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คือวันนี้ต้องดีกว่าเมื่อวาน พรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ ถึงแม้ว่าวันนี้จะดีแล้วแต่ต่อไปต้องดีขึ้นไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วผู้นำที่ดีต้องสร้างผู้นำต่อไปเพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันต่อไปได้
ทำไม Leadership in Supply Chain ถึงสำคัญ?
การแข่งขันในโลกธุรกิจในปัจจุบันและอนาคตมันรุนแรงและไม่ง่ายเหมือนแต่ก่อน มันมีปัจจัยภายนอกต่างๆที่เราควบคุมไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงคราม สภาวะสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ในฐานะผู้นำในซัพพลายเชนมีความสำคัญอย่างมากที่ควรจะเข้าใจซัพพลายเชนของธุรกิจภาพใหญ่ให้ขาดตั้งแต่จาก Upstream ถึง Downstream ว่าธุรกิจของเรามีโอกาสอะไรบ้างหรือสามารถสร้างโอกาสต่อยอดอะไรให้กับธุรกิจได้บ้าง เราจะสามารถสร้างศักยภาพการแข่งขันของเราอย่างไรให้เหนือคู่แข่ง เช่น ส่งมอบเร็วกว่า เพิ่มความน่าเชื่อถือให้ทั่วโลกยอมรับ เมื่อผู้นำมองเห็นโอกาส สร้างวิศัยทัศน์ (Vision) และกำหนดเป้าหมาย (Target)
ผู้นำเป็นผู้กำหนดกลยุทธ์ซัพพลายเชน
ต่อมาผู้นำจะต้องกำหนดกลยุทธ์ของซัพพลายเชน เช่น เราจะส่งมอบให้เร็วกว่าคู่แข่งได้อย่างไร จากตรงนี้ผุ้นำในซัพพลายเชนจะต้องกำหนดกลยุทธ์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่ Sourcing ให้ของเข้ามาในบริษัทด้วยราคาที่เหมาะสม คัดเลือกซัพพลายเออร์ที่เหมาะสมและมีคุณภาพ วางกลยุทธ์ Category Strategy ของสินค้าและบริการที่เราซื้อ วางกลยุทธ์ด้านการผลิตในองค์กร ว่าผลิตที่ไหน ผลิตแบบใด ทำ demand planning เช่นเดียวกับการวางกลยุทธ์ของการจัดการปลายน้ำว่าจะจัดการอย่างไรให้มันตลอดรอดฝั่งตั้งแต่ซัพพลายเออร์ไปยังลูกค้า สิ่งที่สำคัญคือกลยุทธ์ทั้งหมดจะต้องสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันและ Integrate กันหมด
ในองค์ประกอบที่จะทำให้กลยุทธ์ซัพพลายเชนมีประสิทธิภาพ Leadership ในซัพพลายเชนจะต้องดูครอบคลุมไปถึง Infrastructure ที่จะต้องใช้ในการดำเนินงาน ผู้นำจะต้องมีการวางแผนล่วงหน้าว่าจะเป็นอย่างไร การวางแผนกลยุทธ์ทางด้าน Digital Transformation โดยการนำเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาช่วยทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดงานประเภท Routine ลงไปและทำให้การทำงานรวดเร็วขึ้น การให้ความสำคัญกับคนในทีมเพราะคนเป็น Human Capital จะส่งเสริมอย่างไร Empower อย่างไร อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้นำมักมองข้ามคือการทำ Engagement กับในทีมงานของเราเอง ลูกค้าภายในและลูกค้าภายนอก เพื่อที่จะให้งานเดินตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำได้อย่างไม่ขัดข้อง
ผู้นำเป็นผู้คัดหางเสือทีม
สำนวนไทย การคัดหางเสือ คือ การควบคุมเรือไปในทิศทางตามเป้าหมาย ในโลกของซัพพลายเชนเช่นกัน ผู้นำจะต้องเป็นผู้คัดหางเสือทีม เราจะต้องทำให้คนเป็นร้อยๆ พันๆ คนไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างไร อันดับแรกเราจะต้องทลายไซโลในองค์กรให้ได้ก่อน ซึ่งในความเป็นจริงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถของผู้นำ ผู้นำจะต้องขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ผู้นำจะต้องทำให้เกิด Agile Mindset เพื่อให้เกิด Supply Chain Resilience ให้ได้ เมื่อทุกทีมในองค์กรกลายเป็นทีมเดียวกัน การคัดหางเสือขององค์กรก็จะง่ายขึ้นเยอะ
ผู้นำเป็นผู้จัดการกับความเสี่ยงและอุปสรรค
อาจารย์หนุ่มแชร์ตบท้ายว่า จากประสบการณ์ทำงานในซัพพลายเชนมากว่า 30 ปี ผู้นำจะต้องจัดการกับความเสี่ยงและอุปสรรคให้ได้ มันมีความเสี่ยงเยอะแยะทั้งภายในและภายนอก ความเสี่ยงด้าน Supply เช่น การเกิดสงคราม การเกิดวินาศภัย ภัยธรรมชาติต่างๆ ผู้นำจะต้องวิเคราะห์ความเสี่ยงออกมาและหาวิธีป้องกันหรือลดผลกระทบของความเสี่ยงนั้นให้ได้ ไม่ให้ความเสี่ยงมาทำให้เกิด Supply Chain Disruption ส่วนเรื่องอุปสรรคในการทำงาน ผู้นำจะต้องช่วยเหลือทีมงาน ต้องเป็น Change Agent เพื่อขจัดอุปสรรคให้กับทีมงาน ไม่ให้ทีมงานเผชิญกันเอง โดยบางทีเมื่อรู้ถึงปัญหาแล้วอาจจะทำให้สายเกินการแก้ไขไปแล้ว
Leadership ที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร?
งานซัพพลายเชนเป็นงานที่จัดการแปลงของที่เป็นวัตถุดิบให้กลายเป็นสินค้าและส่งถึงลูกค้าปลายทางได้ตามที่ตกลงกันไว้ ความท้าทายของผู้นำในซัพพลายเชนคือจะจัดการให้กระบวนการตั้งแต่สั่งของ ผลิต และจัดส่งอย่างไรให้มีคุณภาพ อาจารย์หนุ่มได้อธิบายถึงลักษณะผู้นำในซัพพลายเชนที่ดีไว้ทั้งหมด 10 ข้อต่อไปนี้
1. Vision: ผู้นำควรมีวิศัยทัศน์ที่ดีและเปิดกว้าง พร้อมจะศึกษาเรียนรู้และก้าวทันการเปลี่ยนแปลง หาความรู้ตลอดเวลาเพื่อที่จะกลับมาพัฒนาศักยภาพตนเอง ทีมและธุรกิจ
2. Inspiration: ต้องเป็นผู้ที่เติมไฟให้ทีมอยากทำงานและทำงานอย่างมีความสุข ผู้นำจะต้องมีความ wow
3. 7E – Energy, Energize, Edge, Execute, Educate, Electronics และ Ethics
i. Energy: ผู้นำในซัพพลายเชนจะต้องมีพลัง ส่งต่อพลังบวกให้กับทีมงาน ตื่นเช้ามาอยากทำงาน เช้าวันใหม่คือสิ่งที่ท้าทาย ควรมี work-life-balance ให้ได้ ถ้าตัวเองทำไม่ได้ ก็จะ inspire ทีมงานให้มีไม่ได้
ii. Energize: นอกจากจะต้องมีพลังแล้ว ผู้นำที่ดีต้องเป็นคนที่สร้างแรงจูงใจให้คน ก่อนอื่นผู้นำควรจะเข้าใจว่าแต่ละคนมีพื้นฐานไม่เหมือนกัน ความต้องการไม่เหมือนกัน ตามหลักการ Maslow’s hierarchy of needs เพราะฉะนั้นในการสร้างแรงจูงใจให้ทีมงานแต่ละคนจะต้องมีกลยุทธ์ที่แตกต่างกันออกไป
iii. Edge: การดำเนินงานมันจะต้องอยู่เหนือขอบเขต เหนือความคาดหวัง ทำอะไรที่มองข้ามอุปสรรคไปให้ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาเหนือเป้าหมาย
iv. Execute: ผู้นำจะต้องไม่ใช่แค่คิดเท่านั้นแต่ต้องนำกลยุทธ์ออกไปดำเนินการให้ได้ เพราะหากไม่สามารถ Implement กลยุทธ์ได้ ก็จะไม่สามารถส่งมอบงานให้ได้ตามความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ได้ ไม่ใช่แผนที่อยู่แค่บนกระดาษ จาก Planning จะกลายเป็นแพลน(ที่)นิ่ง
v. Educate: องค์ความรู้ไม่มีวันหยุด เทคโนโลยีมีมาใหม่ๆเรื่อยๆ ผู้นำจะต้องพัฒนาองค์ความรู้ทั้งของตัวเองและทีมงานอย่างสม่ำเสมอ Keep developing and learning ครับ
vi. Electronics: การดำเนินงานต้องพึ่งพาระบบและเทคโนโลยีตลอดเวลา งาน Routine จะต้องหมดไปด้วยการใช้ระบบสารสนเทศน์เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน (digital transformation) ให้งานกระชับว่องไว ถูกต้องและแม่นยำ
vii. Ethics: ผู้นำที่ดีจะต้องเป็นกลาง มีจรรยาบรรณและคุณธรรม สร้างความเชื่อมั่น ทีมงานศรัทธาในตัวของผู้นำ และคำนึงถึงความยั่งยืน (Sustainability) ด้วย เพราะถ้าองค์กรไม่ยั่งยืน องค์กรก็จะไม่สามารถที่จะอยู่ได้ในระยะยาว
4. Plug and Unplug: ความหมายของการ plug คือการเดินหน้าทำงานต่อ หากตอนไหนที่คิดว่าสิ่งที่ตัดสินใจไปแล้วไม่เวิร์ค ผู้นำจะต้อง unplug คือพร้อมที่จะยกเลิกและปรับเปลี่ยนทันที ไม่มีคำว่าเสียหน้า
5. Decision making: อาจารย์หนุ่มย้ำว่า การตัดสินใจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การไม่ตัดสินใจจะเกิดผลแย่มากกว่าผลดี การตัดสินใจนั้นควรตัดสินใจบนฐานข้อมูล วิเคราะห์สถานการณ์ ไม่ใช้อารมณ์ หากสิ่งที่ตัดสินใจไปไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ก็แค่ unplug รับผิดชอบ และหาวิธีในการจัดการใหม่
6. Lead by example: ทำให้เป็นตัวอย่าง ทำให้ทีมงานเห็น ทีมงานก็จะเห็นว่าทำแล้วมันเวิร์ค อันไหนดีก็ทำให้เป็นตัวอย่าง อันไหนไม่ดีก็ไม่ทำ
7. Be Change Agent: ผู้นำต้องมีทักษะในการโน้มน้าวทีมงานให้ทำงานเป็นทีมเพื่อส่งมอบผลลัพธ์ให้ได้โดยเป็นตัวแทนการเปลี่ยนแปลง คือเป็นผู้ผลักดันการเปลี่ยนแปลง เพื่อการทลายการทำงานแบบไซโลในซัพพลายเชน
8. Networking and Collaboration: ผู้นำที่ดีจะต้องขยันสร้าง Network ทั้งภายในภายนอก ต้องร่วมมือกันพัฒนา ดึงภายนอกเข้ามาภายใน ดึงภายในออกไปภายนอก เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ
9. Be Professional: “นิ่ง นุ่ม หนึบ” ความเป็นมืออาชีพหรือ Professional คือการไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ การตัดสินใจต่างๆจะตั้งอยู่บนเหตุผลและข้อเท็จจริง ใช้องค์ความรู้ทักษะการดำเนินการแบบที่มีรรยาบรรณที่เป็นมืออาชีพ
10. พรหมวิหาร 4: พรหมวิหาร 4 คือธรรมะสำหรับผู้นำและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น จากประสบการณ์ของอาจารย์หนุ่ม ผู้นำควรนำเอามาใช้อย่างจริงจัง อย่ามองข้ามจุดใดจุดหนึ่ง
i. เมตตา คือ ปรารถนาดีให้กับบริษัท ทีมงานให้ทุกคนเก่ง
ii. กรุณา คือ คิดช่วย คุณเป็นผู้นำ คุณอาจจะมีอะไรที่มากกว่าทีมงาน ก็ให้มาช่วยแนะนำ
iii. มุทิตา คือ ความยินดีกับสิ่งที่ดีขึ้น ทีมงานที่เก่งขึ้น และยินดีกับทีมงานที่ได้รับโปรโมชั่น
iv. อุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลาง ผมขอเน้นย้ำ ผู้นำที่ดีควรมีอุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียง ยอมรับในสิ่งที่ปัจเจกบุคคลเป็น เค้าอาจจะเหมาะกับงานแบบนึงและอาจจะไม่เหมาะกับงานอีกแบบนั้น ต้องเลือกใช้คน ให้เกียรติซึ่งกันและกันและคุณจะได้การยอมรับกลับมา
Skills ที่ Leadership in Supply Chain ควรมี
เมื่อเราทราบลักษณะของผู้นำที่ดีในซัพพลายเชนแล้ว ต่อมาจะพูดถึงทักษะหรือ Skill ที่ผู้นำในซัพพลายเชนควรมี อาจารย์หนุ่มได้แบ่งออกเป็นทั้งหมด 6 ทักษะหลักต่อไปนี้
1. ทักษะด้านความคิด (Conceptual Skills):
ผู้นำในซัพพลายเชนจะต้องมองทุกอย่างเป็น Framework ปกติที่ผมใช้ทุกครั้งเลยคือ ก่อนอื่นเมื่อเข้าใจผลลัพธ์ที่จะต้องส่งมอบให้กับ Stakeholder แล้ว ก็ต้องกำหนดเป้าหมายและกรอบเวลา ต่อจากนั้นก็กำหนด What to do? หรือกลยุทธ์นั่นเองว่าจะต้องำอะไรบ้าง ตามไปด้วย Who คือใครเป็นผู้เหมาะสมที่จะเป็นคนทำ ต่อมาคือทำเมื่อไร When และที่สำคัญอย่างมากคือ ทำอย่างไร How to do? ผู้นำจะต้องมองให้เห็นว่าความสำเร็จของงานหน้าตาจะเป็นอย่างไร เห็นขั้นตอนการทำงาน ลองมองนึกถึงภาพว่า ทำกลยุทธ์อะไรซักอย่าง ต้องคิดว่า ทำไมต้องทำ ต้องมี What to do, When to do, Who will do และก็ How to do ทำอย่างไร เน้นย้ำว่าจะต้องมี how ทุกครั้ง ไม่งั้นเฟลเลย
2. ทักษะด้านเทคนิค (Technical Skills):
เมื่อมี Conceptual idea แล้ว ต่อมาจะเจาะลึกถึง “How-to” หรือคำว่า “ทำอย่างไร” ว่า ผู้นำในซัพพลายเชนจะต้องมีทักษะด้านเทคนิคที่ดี ตั้งแต่ Upstream ของ Procurement and Supply Management ไปถึงการผลิต การจัดการสินค้าคงคลัง การจัดการคลังสินค้าจนไปถึง Downstream ทางด้านกาคลังสินค้า Warehouse การจัดการโลจิสติกส์และการขนส่งต่างๆ
3. ทักษะระหว่างบุคคล (Interpersonal Skills):
การประสานระหว่างบุคลคล คุณจะสื่อสารอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ จะต้องคำนึงว่า จะสื่ออย่างไร ที่ให้แต่ละคนที่มีความคิดความอ่านไม่เหมือนกัน แบร็คกราวต่างกัน จะต้องมาทำงานร่วมกัน ส่งผลลัพธ์เดียวกัน ก่อนจะสื่อสารจะต้องมี story telling ยังไงให้เค้าเข้าใจ ไม่ใช่พูดแบบไม่มีการวางแผน รวมถึงการนั่งในใจของผู้ฟังที่คุณจะสื่อสารด้วย พูออย่างไรให้ผู้ฟัง้ข้าใจ และจะทราบได้อย่างรว่าผู้ฟังเข้าใจสิ่งที่คุณเจรจาด้วยตรงกับสิ่งจุดประสงค์ของคุณ
4. ทักษะด้านคน (Human Skills):
ผู้นำจะต้องมองคนให้เป็นคน คนไม่ใช่เครื่องจักร เราต้องให้ความเคารพและจูงใจทีมงานให้เป็น
5. ทักษะการวิเคราะห์ (Analytical Skills):
ผู้นำในซัพพลายเชนจะต้องรู้จักวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ไม่ใช่แค่ภายในบริษัท แต่ข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าและซัพพลายเออร์ ต้องรู้จักวิเคราะห์และเอามา Integrate กัน การวิเคราะห์ข้อมูลจะทำให้เห็นโอกาสและสะท้อนความเป็นจริงที่เป็นอยู่
6. สำนึกแห่งความเร่งด่วน (Sense of Urgency):
ทักษะนี้สำคัญมากสำหรับผู้นำในซัพพลายเชน Sense of Urgency คือความตระหนักถึงวิกฤติที่เกิดขึ้นหรือกำลังจะเกิดขึ้น รวมถึงโอกาสที่กำลังจะเข้ามา เมื่อคุณฟังปัญหาแล้ว เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ต้องรู้แล้วว่ามันมีประเด็นแล้วนะ ผู้นำจะต้องรีบดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วนก่อนที่เรื่องจะบานปลาย
จากประสบการณ์ของอาจารย์หนุ่มกว่า 30 ปีในเส้นทางการเป็นผู้นำในซัพพลายเชน ที่รับผิดชอบและดำรงตำแหน่ง Head of Sourcing ในเอเซีย-แปซิฟิค ทำให้เราได้เกิดความตระหนังถึงและเรียนรู้ถึง การมี Technical skill นั้นไม่เพียงพอ การเป็นผู้นำที่ดีจะต้องมีทักษะอื่นๆด้วย โดยเฉพาะทักษะการจัดการทีมงาน ที่เกิดจากการเรียนรู้ สะสมประสบการณ์และลีลาการจัดการที่แตกต่างกันออกไป องค์กรควรเข้ามามีบทบาทในการเติมเต็มทักษะต่างๆเหล่านี้ให้กับผู้บริหารด้วย หลายๆองค์กรมองข้ามการพัฒนาศักยภาพผู้บริหารไปจนทำให้วันหนึ่งที่คุณได้รับการโปรโมท แต่ไม่สามารถทำหน้าที่ผู้นำได้ อาจารย์หนุ่มและทีมงานหวังว่า บทความนี้จะเป็นตัวจุดประกายและสร้างความตระหนักถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้นำในซัพพลายเชน