Balanced Scorecard ในงานซัพพลายเชน

Supply Chain Guru Logo 1
Balanced Scorecard 1

ในการประกอบธุรกิจ แน่นอนว่าในทุกๆองค์กรจะต้องมีการวางกลยุทธ์องค์กร วิศัยทัศน์ เป้าหมายองค์กร เพื่อที่จะเป็นเส้นทางในการดำเนินงานให้ไปในทิศทางเดียวกัน แต่หลายครั้งที่องค์กรประสบความล้มเหลวเพราะผู้บริหารไม่สามารถนำกลยุทธ์ที่วางไว้ลงมาถึงการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยช่องว่างตรงนี้จึงทำให้เกิดการนำโมเดล Balanced Scorecard มาใช้เพราะ Balanced Scorecard เป็นเครื่องมือการจัดการที่ช่วยแปลงกลยุทธ์ขององค์กรไปสู่แผนการปฏิบัติงานนั่นเอง ในบทความนี้ผมจะอธิบายว่า Balanced Scorecard คืออะไร พร้อมทั้งประโยชน์ของ Balanced Scorecard และยกตัวอย่างให้เกิดความเข้าใจ

Balanced Scorecard คืออะไร

Balanced Scorecard (BSC) คือเครื่องมือด้านการจัดการที่จะช่วยให้องค์กรแปลงกลยุทธ์และเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ไปสู่การปฏิบัติ หรือเรียกกันง่ายๆคือ แพลนการนำกลยุทธ์ไปสู่การนำไปใช้จริง (Transform Strategy into Action โดยอาศัยการจัดการผ่าน 4 มุมมองหลัก ได้แก่ มุมมองด้านการเงิน (Financial Perspective) มุมมองด้านลูกค้า (Customer Perspective) มุมมองด้านกระบวนการภายใน (Internal Process Perspective) และมุมมองด้านการเรียนรู้และการพัฒนา (Learning and Growth Perspective) ในมิติของงานซัพพลายเชนเช่นเดียวกัน แน่นอนว่าองค์กรควรจะต้องมีกลยุทธ์ซัพพลายเชน ว่าจะเป็นอย่างไร มีเป้าหมายไปทิศทางไหน การแปลงกลยุทธ์ซัพพลายเชนมาเป็นแพลนการทำงานก็สามารถใช้ Balanced Scorecard ได้เช่นเดียวกัน

วิธีการทำ Balanced Scorecard

การทำ Balanced Scorecard นั้นจะต้องเริ่มจากการที่องค์กรมีกลยุทธ์ วิสัยทัศน์ และเป้าหมายขององค์กรก่อน เพื่อที่จะสามารถแปลงแนวทางเหล่านั้นมาแปลงเป็นแผนการปฏิบัติงานที่เป็นรูปธรรม โดยผ่านการวิเคราะห์ 4 ด้าน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  1. ปัจจัยภายนอกองค์กร

    1. ด้านการเงิน: เป้าหมายในการทำกำไรขององค์กรคืออะไร? เรามองผู้ถือหุ้นอย่างไร?
    2. ด้านลูกค้า: ลูกค้ามององค์กรเราอย่างไร? สิ่งที่ลูกค้าต้องการจากเราคือสินค้าและบริการคืออะไร?
  2. ปัจจัยภายในองค์กร

    1. ด้านกระบวนการภายใน: ในมุมมองของกระบวนการทำงาน เราสามารถปรับปรุงพัฒนาอะไรให้ดีขึ้นได้บ้าง?
    2. ด้านการเรียนรู้และการพัฒนา: ความสามารถของบุคลากรเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ความรู้ ภาวะผู้นำ ทักษะการทำงานอะไรบ้างที่จะส่งเสริมการทำงานของบุคลากรให้ดีขึ้น

จากนั้น ในทั้ง 4 มุมมอง เราจะวิเคราะห์ในมุมมองย่อยลงมาตามมิติต่อไปนี้

  • เป้าหมาย
  • วัตถุประสงค์
  • ตัวชี้วัด (KPI)

โดยที่การวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้จะต้องสอดคล้องและสนับสนุนต่อกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ขององค์กรให้เป็นภาพเดียวกัน

Balanced Scorecard 2

การประยุกต์ใช้ Balanced Scorecard กับงานซัพพลายเชน

เพื่อให้เข้าใจวิธีการใช้ Balanced Scorecard กับงานซัพพลายเชนมากขึ้น ผมจะยกตัวอย่างการประยุกต์ใช้เครื่องมือนี้ให้เห็นกันครับ สมมติว่าคุณอยู่ในอุตสาหกรรม Fast fashion ที่คุณจะต้องผลิตเสื้อผ้าและเครื่องประดับออกมาสู่ตลาดที่มีการแข่งขันสูง ต้องแข่งกับเวลา โดยมีโจทย์มาจากทางกลยุทธ์องค์กร เราจะเป็นผู้นำทางการตลาดในเรื่องของการจำหน่ายเสื้อผ้าออกมาให้มีคุณภาพ รวดเร็วและตามทัน Fashion ในขณะที่กลยุทธ์ทางซัพพลายเชน คือการใช้ Agile Supply Chain Strategy นั่นคือการมีความพร้อม ความยืดหยุ่น เตรียมพร้อมรับมือกับความแปรปรวนใน Demand

เรามาดูการใช้ Balanced Scorecard กันครับ

กลยุทธ์องค์กร: เราจะเป็นผู้นำทางการตลาดในเรื่องของการจำหน่ายเสื้อผ้าออกมาให้มีคุณภาพ รวดเร็วและตามทัน Fashion

กลยุทธ์ซัพพลายเชน: การใช้ Agile Supply Chain Strategy นั่นคือการมีความพร้อม ความยืดหยุ่น เตรียมพร้อมรับมือกับความแปรปรวนใน Demand เพื่อให้ลูกค้าได้เสื้อผ้าที่มีคุณภาพและรวดเร็วทันใจ

มุมมอง เป้าหมาย วัตถุประสงค์ ตัวชี้วัด
ลูกค้า ปรับปรุงความพึงพอใจของลูกค้า ลด Lead time ค่าเฉลี่ย lead time ลดลง 10%
ลดจำนวนการคืนเสื้อผ้า จำนวนการคืนเสื้อผ้าลดลง 20%
การเงิน เพิ่มผลประกอบการด้านการเงิน เพิ่มยอดขาย ยอดขายต่อเดือนเพิ่มขึ้น 5%
ลดต้นทุน ต้นทุนต่อหน่วยลดลง 5%
กระบวนการทำงานภายใน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลด Cycle time ค่าเฉลี่ย cycle time ลดลง 10%
เพิ่มคุณภาพของสินค้า จำนวน Defect และ Reworked ลดลง 20%
การเรียนรู้และการพัฒนา สร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ ความพึงพอใจของพนักงาน ความพึงพอใจของพนักงานเพิ่มขึ้น 20%
พัฒนาศักยภาพของพนักงาน จำนวนวันอบรมเพิ่มขึ้นเป็น 10 วัน

จะเห็นได้ว่าจากการที่เราเอากลยุทธ์องค์กร กลยุทธ์ซัพพลายเชน มาเรียบเรียงกันให้เห็นภาพ จากนั้นนำ Balanced Scorecard เข้ามาช่วยแปลงกลยุทธ์เหล่านี้ออกมาเป็นแพลนการปฏิบัติงาน ทำให้เราเห็นเป้าหมาย วัตถุประสงค์และมีตัวชี้วัดให้เห็นชัดเจนและทำให้เห็นเส้นทางการดำเนินการต่อ

fashion-portrait-young-elegant-woman-min

ประโยชน์จากการทำ Balanced Scorecard

จากขั้นตอนการทำ Balanced Scorecard และตัวอย่างการประยุกต์ใช้จริง จะเห็นได้ว่า เราได้ประโยชน์จากการทำ Balanced Scorecard มหาศาลหากคุณนำไปประยุกต์ใช้อย่างถูกต้อง เรามาดูกันดีกว่าครับว่ามีอะไรบ้าง

  1. Balanced Scorecard เปรียบเสมือน Execution plan หรือแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายและวิสัยทัศน์ขององค์กร เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ
  2. สร้างความตระหนักให้บุคลากรทราบถึงกลยุทธ์องค์กรและการดำเนินงานให้เป็นแนวทางเดียวกัน
  3. ใช้เป็นเครื่องมือในการปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานและวัฒนธรรมองค์กรโดยผ่านการกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมาย
  4. ทำให้พนักงานรับรู้และเข้าใจงานของตนเองมากขึ้นว่า มีที่มาที่ไปอย่างไร และมีผลกระทบต่อกระบวนการทำงานของเพื่อนๆในองค์กรอย่างไร

สรุป

จากที่ผมอธิบายเรื่อง Balanced Scorecard มาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า Balanced Scorecard เป็นแผนการแปลงกลยุทธ์องค์กรไปสู่การนำไปใช้จริง  เป็นเครื่องมือด้านการจัดการที่จะช่วยให้องค์กรแปลงกลยุทธ์และเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ไปสู่การปฏิบัติที่แต่ละหน่วยงานมีความสอดคล้องกัน มีแผนงานปฏิบัติงานและวัดผลได้ โดยผ่านการวิเคราะห์จาก 4 ด้าน เริ่มจากปัจจัยภายในองค์กร ความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนา (1) ของบุคลากรที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการจัดการและแข่งขันขององค์กร การมีบุคลากรที่มีศักยภาพส่งผลให้องค์กรมีกระบวนการภายใน (2) ที่มีประสิทธิภาพ องค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ผลลัพธ์ที่ได้ต่อมาก็คือลูกค้า (3) มีความพึงพอใจ มีความภักดี ซื้อสินค้าและบริการซ้ำ จนนำไปสู่การบอกต่อ เมื่อทั้งบุคลากรขององค์กรดี กระบวนการมีประสิทธิภาพ ลูกค้าพึงพอใจ สุดท้ายก็จะส่งผลให้ผลตอบแทนทางการเงิน (4) ดีขึ้น องค์กรมีต้นทุนที่ต่ำลง กำไรเพิ่มขึ้น

แชร์บทความนี้

Facebook
LinkedIn

ให้เราเป็นผู้ดูแลคุณ

ด้วยประสบการณ์ด้านการจัดซื้อและการจัดการซัพพลายเชนมากว่า 30 ปี