“ขอขอบคุณผู้มีอุปการคุณทุกท่านที่มาอุดหนุนร้านฮะจิบัง ราเมน เนื่องจากมีเหตุน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ทำให้ครัวกลางไม่สามารถผลิตวัตถุดิบให้กับทางร้านได้ ดังนั้นทางบริษัทฯ จึงขอปิดบริการชั่วคราว จนกว่าเหตุการณ์น้ำท่วมลดลงเป็นปกติ ทางร้านจะรีบเปิดให้บริการโดยทันที จึงเรียนมาเพื่อทราบ และขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย” ประกาศจากทางฮะจิบังในปี 2554 จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย
เมื่อนึกถึงธุรกิจอะไรที่หยุดชะงักไปเมื่อเจอเหตุการณ์น้ำท่วมปี 54 หลายคนก็คงนึกถึงร้านราเมน แฟรนไชส์ญี่ปุ่นเจ้าดัง “ฮะจิบัง ราเมน” ที่มีสาขา 91 สาขาทั่วประเทศไทย ณ ขณะนั้น ทยอยปิดร้านชั่วคราว สาเหตุหลักที่ทำให้ฮะจิบังปิดร้านไปชั่วคราวคือซัพพลายเออร์ไม่สามารถจัดส่งวัตถุดิบหลักที่ไว้ใช้ทำเส้นราเมนได้เลย ตั้งแต่แป้งสาลี ไข่ เกลือ เนื้อสัตว์ ผัก และน้ำสะอาด อีกทั้งครัวกลางของฮะจิบังตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมนวนครซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเต็มๆ ถึงแม้ว่าต่อให้ครัวกลางสามารถป้องกันโรงงานจากน้ำท่วมได้ ฮะจิบังก็ยังไม่สามารถผลิตเส้นราเมนได้อยู่ดี
เรามาย้อนดูไทม์ไลน์ของการหยุดชะงักของฮะจิบังกันก่อนครับว่าเป็นอย่างไรบ้าง
- วันที่ 14 ตุลาคม 2554 ครัวกลางในนิคมอุตสาหกรรมนวนครหยุดการผลิตวัตถุดิบ
- วันที่ 28 ตุลาคม 2554 ปิดร้านฮะจิบังราเมน ทั้ง 90 สาขา (อยู่ระหว่างรีโนเวท 1 สาขา)
- วันที่ 24 ธันวาคม 2554 เริ่มเข้าระบายน้ำที่ขังในโรงงาน ตรวจสอบและซ่อมแซมความเสียหายในโรงงานครัวกลาง
- วันที่ 11 มกราคม 2555 เริ่มการผลิตบางส่วนที่ครัวกลาง
- วันที่ 14 มกราคม 2555 เริ่มเปิด 7 สาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
- ช่วงปลายเดือนมกราคม 2555 กลับมาเปิดเพิ่มอีก 7 สาขา เป็น 14 สาขา
- ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2555 เปิดเพิ่มได้อีก 6 สาขา เป็น 20 สาขา
- ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2555 เปิดครบ 90 สาขา
จะเห็นได้ว่า กลางเดือนมกราคม เมื่อสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย ฮะจิบัง ราเมน ใช้เวลา 3 เดือนเต็มๆในการกลับมาเปิดร้านได้อีกรอบและใช้เวลาร่วมครึ่งปีที่ทำกลับมาเปิดบริการครบทุกสาขาได้ นอกจากมูลค่าความเสียหายของโรงงานแล้ว การขาดรายได้ไปตลอด 3 เดือนก็ทำให้เป็นบทเรียนครั้งสำคัญของฮะจิบังและผู้ประกอบการธุรกิจอีกหลายๆรายเลยเช่นกัน
เรามาถอดบทเรียนที่ได้จากกรณีศึกษานี้กันครับ
ที่ผมได้ยกกรณีศึกษาของฮะจิบังขึ้นมานั้น ผมอยากให้ผู้ประกอบธุรกิจได้ตระหนักผลที่ตามมาหากธุรกิจคุณหยุดชะงักและความสำคัญในการบริหารความเสี่ยงในการจัดซื้อ (Supply Risk) เพราะมิเช่นนั้น คุณอาจจะเดินตามรอยฮะจิบังก็เป็นได้ ผมจึงเขียนบทเรียน 3 ข้อของกรณีศึกษานี้มาให้อ่านกันครับ
-
การหยุดชะงักในซัพพลายเชน (Supply Chain Disruption) ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป:
ปัจจุบันเราได้ยินข่าวเรื่องการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดแล้วทำให้เกิดการหยุดชะงักในซัพพลายเชนเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น เรือ Ever Given ขวางคลองสุเอซเป็นระยะเวลาร่วมอาทิตย์ที่ขนสินค้าจากเอเซียไปยุโรป เกิดความสูญเสียมูลค่า 3 แสนล้านบาทต่อวัน ธุรกิจในยุโรปได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง เป็นต้น จะเห็นได้ว่าธุรกิจในปัจจุบันสามารถพบเจอกับสิ่งที่ไม่คาดคิดแล้วทำให้เกิดการหยุดชะงักได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น การเตรียมตัวให้พร้อมเสมอ การจัดการความเสี่ยง และการมีแผนกลยุทธ์สำรองรับรองสิ่งที่ไม่คาดคิดนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ ผู้บริหารและเจ้าของกิจการไม่สามารถมองข้ามไปได้
-
การบริหารความเสี่ยงไม่ใช่ตัวเลือกอีกต่อไป (Risk Management is not optional):
บทเรียนต่อมาที่สำคัญคือการบริหารความเสี่ยงที่ต่อไปทุกบริษัทควรทำ ไม่ว่าคุณจะเป็นบริษัทเล็กหรือใหญ่ ทุกบริษัทล้วนมีความเสี่ยง การบริหารความเสี่ยงจะช่วยให้คุณบริหารจัดการให้โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ความเสี่ยง ลดลง หรือผลกระทบของความเสียหายจากเหตุการณ์ความเสี่ยงลดลง หรืออยู่ในระดับที่บริษัทยอมรับได้
-
การวางแผน Contingency plan กับซัพพลายเออร์เป็นเรื่องที่ต้องทำ:
ในเคสของฮะจิบัง ราเมน เราจะเห็นได้ว่า เหตุผลหลักที่ทำให้ร้านต้องปิดตัวชั่วคราวไปก็เป็นเพราะว่าซัพพลายเออร์ไม่สามารถจัดส่งวัตถุดิบหลักในการทำราเมนได้ หากคุณได้มีการปรึกษาและวางแผนทำ Contingency plan เอาไว้ก่อนล่วงหน้ากับซัพพลายเออร์ ธุรกิจของคุณอาจจะไม่หยุดชะงัก คุณอาจจะเริ่มจากถามซัพพลายเออร์ว่า หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด คุณมีแผนอย่างไรในการส่งของได้ไม่สะดุด เช่น มีแผนมาตรการรองรับไหม? อย่างไร? เป็นต้น หากไม่มี คุณอาจจะต้องพิจารณาแล้วว่า มีความเสี่ยงสูงมากที่ซัพพลายเออร์รายนี้จะไม่สามารถจัดส่งของให้คุณได้ในยามฉุกเฉิน หรือถ้าบางรายมีแผนรองรับแล้ว คุณควรนำแผน Contingency plan ของคุณออกมากางและ sync กับแผนของซัพพลายเออร์เพื่อที่จะมั่นใจว่าธุรกิจเราจะไม่สะดุดอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ เพื่อป้องกันการหยุดชะงักของธุรกิจ บริษัทของคุณสามารถจัดทำ Business Continuity Plan (BCP) ขึ้นมาด้วยก็ได้ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการมีแผนสำรองไว้รองรับการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดครับ