ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยได้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นมหาอุทกภัยน้ำท่วมปี 2554 ที่ทำให้ซัพพลายเชนของหลายธุรกิจยักษ์ใหญ่หยุดชะงักไป ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดน่าจะเป็นกรณีของ Seagate ผู้นำด้านอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟที่มีฐานการผลิตอยู่ที่ประเทศไทย ส่งออกไปทั่วโลกกว่า 40% เมื่อโรงงานโดนน้ำท่วม ส่งผลให้ฮาร์ดดิสก์ขาดตลาดทั่วโลก คำถามต่อมาคือเราจะทำอย่างไรในการลดความเสี่ยงที่จะเกิด supply chain disruption จากภัยพิบัติทางธรรมชาติ วันนี้ผมมีคำตอบให้ครับ
Supply Chain Disruption หรือการหยุดชะงักทางซัพพลายเชน
ไม่ว่าจะเป็นการหยุดชะงักจากการจัดส่งล่าช้า หรือภัยพิบัติที่ประเทศไทยเจออยู่ตอนนี้ นั่นคือน้ำท่วม ส่งผลให้หลายจังหวัดไม่สามารถทำการขนส่งได้ ส่งผลกระทบให้ซัพพลายเชนหยุดชะงักไปชั่วขณะ เมื่อซัพพลายเชนหยุดชะงัก ธุรกิจก็หยุดชะงัก
ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราทำอะไรไม่ได้หรอก ในฐานะที่พวกเราเป็นนักจัดซื้อจัดจ้างมืออาชีพ สิ่งที่เราทำได้คือเราควรจะต้องทำ Risk assessment หรือการประเมินความเสี่ยงก่อนเกิด พร้อมกับหา Mitigation plan หรือแนวทางการป้องกันไว้ ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับการประเมินความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยงกันครับ
การประเมินความเสี่ยงคืออะไร?
กระบวนการระบุความเสี่ยง การวิเคราะห์ความเสี่ยงและจัดลำดับความเสี่ยง โดยการประเมินจากโอกาสที่จะเกิด ผลกระทบ และระดับของความเสี่ยงนั้นๆ โดยมองจาก 2 มิติ นั่นคือ ความน่าจะเป็น (Likelihood) x ผลกระทบ (Impact)
- ความน่าจะเป็น หมายถึง ความถี่หรือโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ ความเสี่ยง
- ผลกระทบ หมายถึง ขนาดความรุนแรงของความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากเกิด เหตุการณ์ความเสี่ยง
การบริหารความเสี่ยงคืออะไร?
การบริหารความเสี่ยง หมายถึง กระบวนการที่ใช้ในการบริหารจัดการให้โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ความเสี่ยงลดลง หรือผลกระทบของความเสียหายจากเหตุการณ์ความเสี่ยงลดลง หรืออยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้ ซึ่งการจัดการความเสี่ยงมีหลายวิธีดังต่อไปนี้
- การยอมรับความเสี่ยง (Risk Acceptance) เป็นการยอมรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เนื่องจากไม่คุ้มค่า ในการจัดการควบคุมหรือป้องกันความเสี่ยง
- การลด/การควบคุมความเสี่ยง (Risk Reduction) เป็นการปรับปรุงระบบการท างานหรือการออกแบบวิธีการทำงานใหม่เพื่อลดโอกาสที่จะเกิด หรือลดผลกระทบให้อยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้
- การกระจายความเสี่ยง หรือการโอนความเสี่ยง (Risk Sharing) เป็นการกระจายหรือถ่ายโอนความเสี่ยงให้ผู้อื่นช่วยแบ่งความรับผิดชอบไป
- หลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Risk Avoidance) เป็นการจัดการความเสี่ยงที่อยู่ในระดับสูงมากและหน่วยงานไม่อาจยอมรับได้ จึงต้องตัดสินใจยกเลิกโครงการ/กิจกรรมนั้น
ขั้นตอนการประเมินความเสี่ยง
- ก่อนที่จะประเมินความเสี่ยงได้ บริษัทต้องทำ Risk register หรือลงทะเบียนความเสี่ยงไว้ก่อนกว่าความเสี่ยงที่ธุรกิจจะต้องเจอมีอะไรบ้าง เช่น ภัยธรรมชาติ ภัยที่เกิดจากการทำของมนุษย์ เป็นต้น
- ในการประเมินความเสี่ยง ตามเฟรมเวิร์คแล้ว เราจะประเมินความเสี่ยงใน 2 มิติด้วยกันได้แก่ ความน่าจะเป็น (Likelihood) x ผลกระทบ (Impact)
- เมื่อนำความเสี่ยงต่างๆมาประเมินแล้ว เราจะได้ Risk profile ลำดับความเสี่ยงว่าบริษัทเรามีความเสี่ยงและผลกระทบอะไรบ้าง จากนั้นก็จัดทำแนวทางการป้องกันเป็นลำดับต่อไป
ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆที่หลายๆคนได้รับผลกระทบตอนนี้แล้ว นั่นคือ ความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วม
หากถามว่าความน่าจะเป็นในการเกิดน้ำท่วมในปัจจุบันคือเท่าไหร่ ผมให้อยู่ที่ระดับกลาง-สูง ขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้งของธุรกิจ หากบริษัทคุณตั้งอยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำหรือโดนน้ำท่วมเป็นประจำ ความน่าจะเป็นต้องสูงอย่างแน่นอน ส่วนเรื่องผลกระทบนั้น เมื่อเกิดน้ำท่วมขึ้นแล้ว แน่นอนว่าผลกระทบมหาศาล ทั้งเรื่องการขนส่ง สิ่งปลูกสร้างโดนทำลาย เพราะฉะนั้นผลกระทบได้สูงแน่นอน
ต่อมาคือการทำ Mitigation plan หรือแนวทางการป้องกัน ที่ผมได้ลิสต์ออกมาด้านล่างนี้เลยครับ
- การทำ Buffer stock: จะที่บริษัทเราก็ได้หรือที่ซัพพลายเออร์ก็ได้ และควรคำนึงการเตรียมการขนส่ง สมมติซัพพลายเออร์เราอยู่ในที่ลุ่มน้ำ เช่น จังหวัดอยุธยา นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ เราก็ต้องทำแผนคุยกับซัพพลายเออร์แล้วว่าช่วงหน้าฝนต้องทำ Buffer stock ไว้หน่อย ซึ่ง Buffer stock นี้จะสามารถแบ่งกันเก็บทั้งที่เราและที่ซัพพลายแอร์ก็ได้
- การเตรียม contingency plan: ถามซัพพลายเออร์ว่า ถ้าเกิดน้ำท่วม คุณมีแผนอย่างไรในการส่งของได้ไม่สะดุด เช่น มีการเช่าโกดังแยกไว้ตะหาก หากเค้าตอบไม่ได้ คุณควรพิจารณาซัพพลายเออร์เจ้านี้แล้วว่าควรได้ไปต่อไหม เพราะฉะนั้นต้องวางแผนร่วมมือกับซัพพลายเออร์