การเดินทางของวัคซีนจากแหล่งผลิตมาถึงประเทศปลายทางจะต้องใช้การขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ หรือ cold chain logistics เพื่อควบคุมคุณภาพของวัคซีนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อวัคซีนโควิด-19 เดินทางถึงประเทศไทยแล้ว การกระจายวัคซีนต่อพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศก็เป็นอีกความท้าทายหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องมีความเตรียมพร้อมทั้งทางด้านบุคลากร อุปกรณ์ สถานที่ ตลอดจนแผนสำรองในการรองรับเมื่อแผนหลักไม่เป็นไปตามคาด วันนี้ทางซัพพลายเชน กูรูมีความรู้เรื่อง 4 สิ่งที่ควรคำนึงเกี่ยวกับซัพพลายเชนการกระจายวัคซีนมาฝาก
-
ความพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์ที่ใช้ในการฉีดวัคซีน:
ในการฉีดวัคซีน นอกจากเราจะต้องเตรียมตัววัคซีนให้พร้อมแล้ว อุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการฉีดวัคซีนก็ต้องมีการจัดซื้อเพื่อให้มีความพร้อมให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในการฉีดวัคซีนด้วย ไม่ว่าจะเป็นถุงมือ หน้ากากอนามัย ชุด PPE เเข็มฉีดยา เป็นต้น หากไม่มีอุปกรณ์เหล่านี้ การฉีดวัคซีนก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ซัพพลายเชน กูรูอยากให้รัฐบาลตระหนักถึงเรื่องตรงนี้ด้วยเพราะได้มีบางประเทศที่ได้เจอกับการขาดตลาดของตัวเข็มฉีดยา (needles) แล้ว เช่น ประเทศอิตาลีและประเทศกรีซ หากมีการวางแผนงานการจัดซื้ออย่างมีประสิทธิภาพก็จะทำให้ลดความเสี่ยงในการจัดซื้ออุปกรณ์เหล่านี้ได้เช่นกัน
-
ความสามารถในการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold chain logistics and capacity):
วัคซีนส่วนใหญ่จะต้องจัดส่งแบบควบคุมอุณหภูมิตั้งแต่อุณภูมิ -50 ถึง -15 องศาเซลเซียส หากประเทศไทยสามารถนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ Pfizer ได้สำเร็จ วัคซีนตัวนี้จะเก็บรักษาในอุณหภูมิถึง -80 ถึง -60 องศาเซลเซียสเพื่อรักษาประสิทธิภาพของวัคซีน (สูงสุดนาน 6 เดือน) ประจวบกับสภาพอากาศร้อนชื้นแบบในประเทศไทย ความท้าทายก็ยิ่งมากขึ้น นอกจากนี้เองประเทศยังควรเตรียมแผนไว้รองรับเรื่องการเก็บรักษาวัคซีนอีก เช่น แผนสำรองหากที่จัดเก็บวัคซีนใช้การไม่ได้ เพราะนั่นหมายถึง วัคซีนที่จัดซื้อมาทั้งหมดอาจเสื่อมประสิทธิภาพลงไปหรืออาจจะนำมาใช้ไม่ได้เลยอีกด้วย เพราะฉะนั้นประเทศไทยควรงตระหนักถึงเรื่องการขนส่งและจัดเก็บวัคซีนแบบควบคุมอุณหภูมิให้ละเอียดถี่ถ้วน
-
ความพร้อมในการจัดส่งสินค้าขั้นสุดท้าย (Last-mile delivery):
เมื่อวัคซีนโควิด-19 ได้ถึงประเทศไทยแล้ว ความท้าทายต่อมาคือการกระจายวัคซีนไปทั่วไปประเทศโดยที่ยังคงรักษาคุณภาพของวัคซีนให้มีประสิทธิภาพอยู่โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล เมื่อวัคซีนไปถึงที่หมายแล้ว ความรับผิดชอบและการรักษาวัคซีนจะตกไปอยู่กับหน่วยงานในพื้นที่นั้นๆแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องบุคลากรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้เพราะการดูแลรักษาวัคซีน การฉีดวัคซีนเป็นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน บุคลากรควรได้รับการอบรมและเตรียมความพร้อมก่อนลงสนามจริง
-
ความสมบูรณ์ของข้อมูล (Data integrity):
นอกจากการมีความพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์ ความสามารถในการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ การพร้อมในการจัดส่งวัคซีนขั้นสุดท้ายแล้ว การกระจายวัคซีนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีการไหลของข้อมูลให้ทั่วถึงในซัพพลายเชนการกระจายวัคซีน การมีระบบเทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลแบบ end-to-end จะยิ่งทำให้การกระจายวัคซีนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นั่นหมายถึง การแชร์ข้อมูลการแบบ real time ทั้งซัพพลายเชนเพื่อที่จะสามารถติดตามสถานะได้เพียงแค่ปลายนิ้วคลิก ไม่ว่าจะเป็น
-
- ข้อมูลของตัววัคซีน ว่าสถานะไปถึงไหนแล้ว ยังเก็บควบคุมอุณหภูมิที่กี่องศาเซลเซียส
- ข้อมูลด้านสถานที่ ว่าสถานที่จัดส่งอยู่ที่ไหน สภาพถนนและสภาพภูมิอากาศโดยรวมเป็นอย่างไรบ้าง หรือปัจจัยอะไรที่จะเป็นอุปสรรคในการขนส่ง
- การสื่อสารกันระหว่างบริษัทขนส่งและจุดหมายปลายทาง ถึงเรื่องการเตรียมสถานที่ในการจัดเก็บวัคซีน ปริมาณการขนส่ง กำหนดการการขนส่ง
- การเชื่อมต่อข้อมูลกันโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการขนส่ง คงจะเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้การขนส่งเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
-
จะเห็นได้ว่า กว่าจะมาเป็นวัคซีนให้ประชาชนทุกคนฉีดได้ทั่วประเทศนั้นมีความท้าทายอยู่ไม่น้อย แต่ก็ไม่ยากเกินไปหากรัฐบาลมีการวางแผนจัดการการกระจายวัคซีนและคำนึงถึง 4 ประเด็นหลักนี้ก็จะทำให้การกระจายวัคซีนเป็นเรื่องที่จัดการได้และทำให้ธุรกิจกลับมาดำเนินการได้ตามปกติไวมากขึ้น นอกจากนี้ จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เห็นว่า ซัพพลายเชน เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด หากเรามองข้ามเรื่องการจัดการซัพพลายเชนไป ก็จะทำให้เกิดผลกระทบที่เป็นวงกว้างอย่างที่คาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อวัคซีนหรือการกระจายวัคซีนก็ตาม