รวมความรู้เรื่อง การบูรณาการซัพพลายเชน (Supply Chain Integration)

Supply Chain Guru Logo 1
supply chain integration_hands

ในโลกธุรกิจปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งมีปัจจัยที่เหนือการควบคุมที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างมาก เจ้าของธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับซัพพลายเชนเป็นลำดับต้นๆ “ซัพพลายเชน” ถือเป็น “กระดูกสันหลัง” ของธุรกิจที่จะสามารถเพิ่มขีดและประสิทธิภาพในการแข่งขันในตลาดได้ ฝ่ายต่างๆในซัพพลายเชนทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เห็นเป้าหมายเป็นภาพเดียวกัน มีการดำเนินงานเชื่อมต่อกันและเดินไปสู่จุดหมายจุดเดียวกันเพื่อจะส่งมอบสินค้าและบริการให้กับลูกค้าแบบเหนือความคาดหมาย การร่วมมือกันระหว่างแต่ละฝ่ายเป็นการร่วมมือกันในระดับกลยุทธ์ขององค์กร และเป็นที่มาของการบูรณาการซัพพลายเชน (Supply Chain Integration)

การบูรณาการซัพพลายเชน (Supply Chain Integration) คืออะไร

การบูรณาการซัพพลายเชน หรือ Supply Chain Integration คือ การร่วมมือกันทางด้านกลยุทธ์และการจัดการซัพพลายเชน ตั้งแต่แผนความต้องการและคำสั่งซื้อของลูกค้า การวางแผนการผลิต การจัดซื้อ การขนส่งและการจัดจำหน่าย ระหว่างทุกๆฝ่ายในซัพพลายเชน โดยมีการประสานงานและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ โดยที่การบูรณาการร่วมกันนั้นจะส่งผลให้เกิดประโยชน์ร่วมกันต่อทุกฝ่ายในซัพพลายเชน

จุดประสงค์ของการบูรณาการซัพพลายเชนขึ้นเพื่อให้การดำเนินงานในซัพพลายเชนมีประสิทธิภาพ มีข้อมูลที่แม่นยำเพื่อสามารถส่งมอบสินค้าและบริการให้ลูกค้าได้อย่างพึงพอใจ

shake hand professional negotiation

ความสำคัญของการบูรณาการซัพพลายเชน

วัตถุประสงค์หลักของการบูรณาการซัพพลายเชนคือ เพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจกับสินค้าและบริการ ไม่ว่าจะเป็นในมิติด้านคุณภาพ การส่งมอบ ระยะเวลาในการรอ บริการหลังการขาย ลองนึกภาพถ้าในซัพพลายเชนของคุณสามารถรับส่งข้อมูลความต้องการของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ กระบวนการผลิตกระชับ และสามารถจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าได้เหนือความคาดหมาย การบูรณาการซัพพลายเชนสามารถช่วยยกระดับความพึงพอใจของลูกค้าและในขณะเดียวกันก็สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการซัพพลายเชนได้อีกด้วย ผมขอแบ่งปัจจัยที่ทำไมองค์กรถึงควรให้ความสำคัญในการบูรณาการซัพพลายเขนออกเป็นปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ตามนี้ครับ

ปัจจัยภายนอก

  • การแข่งขันในปัจจุบัน: โลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป การแข่งขันที่เป็นไปอย่างดุเดือด ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวกันอย่างมาก ทุกๆฝ่ายในซัพพลายเชนจะต้องร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถทำธุรกิจกันและเพิ่มขีดการแข่งขันในตลาด
  • พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป: พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และที่เห็นชัดที่สุดจะเห็นเป็นพฤติกรรมผู้บริโภคหลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจ E-Commerce เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด และผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น จึงทำให้ผู้บริโภคอยากได้ของไวขึ้น อยากได้ของพรุ่งนี้ก็ต้องได้พรุ่งนี้ ธุรกิจแข่งขันกันอย่างดุเดือด ธุรกิจใดไม่ปรับตัวก็ต้องปิดตัวไป
  • ความผันผวนของความต้องการ (Demand fluctuation): ถึงแม้ว่าองค์กรจะมีการพยากรณ์ข้อมูลความต้องการของลูกค้าและมีแผนการรองรับความผันผวนในความต้องการนี้มาเป็นอย่างดีแล้ว แต่ในบางครั้งความผันผวนก็ทำให้องค์กรตั้งรับไม่ทันเช่นกัน จะดีกว่าไหมถ้าองค์กรของคุณมีซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง ซัพพลายเออร์สามารถส่งมอบวัตถุดิบให้คุณได้ในช่วงเวลาที่มีการผันผวน

ปัจจัยภายใน

  • ประสิทธิภาพในการทำงาน: หากภายในองค์กรยังมีการทำงานเป็นไซโล คือต่างคนต่างทำ ทุกฝ่ายเพียงแค่ส่งไม้ต่อให้กันแต่ไม่ได้ทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว เช่น ฝ่ายการตลาดจะทำการตลาดขายสินค้า A แต่ไม่ได้ประสานงานไปยังฝ่ายจัดซื้อและการผลิตให้รับทราบ ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือ องค์กรอาจจะผลิตของไม่ทันกับความต้องการของตลาด ก็เป็นได้ สุดท้ายองค์กรก็จะเสียโอกาสในการขายและเพิ่มรายได้
  • การพัฒนาสินค้าใหม่ (New Product Development): Lead time ในการพัฒนาสินค้าใหม่นั้น หากองค์กรไม่มีการวาง Roadmap ที่ชัดเจนจะทำให้การพัฒนาสินค้าใหม่นั้นเป็นไปได้อย่างล่าช้า เมื่อพัฒนาเสร็จ วัตถุดิบที่จะต้องใช้ในการผลิตสินค้านั้นๆจะต้องพร้อมเพื่อผลิตและส่งเข้าสู่ตลาด หากองค์กรไม่มีการบูรณาการทั้งภายในและภายนอกจะส่งผลให้การขายสินค้าใหม่ดีเลย์ออกไป นั่นหมายหมายความว่า โอกาสในการเพิ่มรายได้ขององค์กรจะช้าออกไปด้วย
  • การลดต้นทุน: แน่นอนว่าการลดต้นทุนเป็นหัวใจสำคัญในการควบคุมค่าใช้จ่ายสำหรับองค์กร บางองค์กรที่มองการลดต้นทุนแบบปีต่อปี อาจจะมองแค่ว่า จะต่อรองกับซัพพลายเออร์อย่างไรให้ลดราคาให้ ในขณะที่องค์กรที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลจะมองหาการบริหารต้นทุนเชิงกลยุทธ์ในการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างยั่งยืนในระยะยาว การบูรณาการซัพพลายเชนจะเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่จะตอบโจทย์การลดต้นทุนนี้

collaboration on the table

มิติในการบูรณาการซัพพลายเชน (Supply chain integration)

การบูรณาการซัพพลายเชน จะแบ่งออกเป็น 2 มิติ ได้แก่ การบูรณาการซัพพลายเชนภายใน (Internal supply chain integration) และการบูรณาการซัพพลายเชนภายนอก (External supply chain integration)

อ้างอิงจากศูนย์การค้านานาชาติ (International Trade Centre) ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อเกิดการบูรณาการภายในสำเร็จแล้ว การบูรณาการภายนอกถึงจะทำได้ (Once – and only once – internal integration is successful, organizations should aim for external integration.)

การบูรณาการซัพพลายเชนภายใน (Internal supply chain integration) คือการที่ฝ่ายต่างๆในองค์กรร่วมมือกันในการปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานภายในให้เป็นหนึ่งเดียว ไม่มีการทำงานแบบเป็นไซโล นั่นหมายความว่า การดำเนินการตั้งแต่ Sales and Marketing, Research and Development, Procurement, Planning, Logistics มีการ synchronize ในการทำงานกันอย่างราบรื่น ยกตัวอย่างเช่น ฝ่าย Research and Development มีแพลนว่าจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อที่จะออกขายได้ในอีก 3 เดือนหน้า ทุกฝ่ายในซัพพลายเชนจะต้องคุยกัน sync แผนงานกันเพื่อให้มองเห็นเป็นภาพเดียว เช่น ฝ่าย Sales and Marketing จะต้องวางแผนช่องทางการขายและการตลาดเพื่อรองรับสินค้าใหม่นี้ ในขณะที่ฝ่ายจัดซื้อจะต้องวางแผนการจัดซื้อจัดจ้างและเชื่อมแผนงานนี้ไปกับฝ่าย Planning เพื่อให้การผลิตไม่สะดุด ท้ายที่สุด Logistics จะต้องวางแผนการขนส่งเพื่อให้จัดส่งสินค้าไปยังลูกค้าอย่างราบรื่น

เมื่อองค์กรมีการบูรณาการภายในสำเร็จ การบูรณาการซัพพลายเชนภายนอก (External Supply Chain Integration) เป็นขั้นตอนถัดไปที่ทำได้ไม่ยาก การบูรณาการซัพพลายเชนภายนอกคือร่วมมือกันระหว่างองค์กรและผู้เกี่ยวข้องในซัพพลายเชน ไม่ว่าจะเป็นซัพพลายเออร์ ผู้รับเหมา ลูกค้า ผู้บริการขนส่ง เป็นต้น ในการร่วมมือกันทางด้านกลยุทธ์และการจัดการซัพพลายเชนเพื่อให้การรับส่งข้อมูลและสินค้าเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ การบูรณาการซัพพลายเชนภายนอกจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากซัพพลายเชนภายในองค์กรยังไม่บูรณาการรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน

walmart

ตัวอย่างองค์กรที่บูรณาการซัพพลายเชน

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ผมขอยกตัวอย่างในอุตสาหกรรมค้าปลีกและ FMCG (Fast Moving Consumer Goods) ที่ต้องเจอกับความผันผวนในความต้องการของลูกค้าตลอดเวลา ในสหรัฐอเมริกา บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล จำกัด (มหาชน) หรือ P&G ได้บูรณาการซัพพลายเชนกับ วอลมาร์ต บริษัทค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยการเชื่อมต่อระบบในการส่งต่อข้อมูลความต้องการของลูกค้าเพื่อ P&G จะได้สามารถกระจายสต๊อกออกไปตามสาขาของวอลมาร์ตได้อย่างแม่นยำ ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ P&G ส่งของให้เยอะเกินไปส่งผลให้สต๊อกบวมและจะต้องเลขายลดราคาในที่สุด ผลจากการบูรณาการทางซัพพลายเชนนี้ทำให้ทั้ง P&G และวอลมาร์ตมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า

สรุป

จะเห็นได้ว่า การบูรณาการซัพพลายเชน เป็นกลยุทธ์ซัพพลายหนึ่งที่ธุรกิจควรให้ความสำคัญ เพราะจะช่วยให้ซัพพลายเชนทั้งของคุณและทุกๆฝ่ายในซัพพลายเชนมีความแข็งแกร่งและเพิ่มขีดการแข่งขันได้ ถึงแม้ว่าการจะบูรณาการซัพพลายเชนนั้นจะต้องอาศัยเวลาและการร่วมมือกันในระดับกลยุทธ์เพื่อทำให้เห็นผล แต่มันก็คุ้มค่ามากเมื่อบูรณาการสำเร็จ คุณจะสามารถเติบโตในตลาดของคุณได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

แชร์บทความนี้

Facebook
LinkedIn

ให้เราเป็นผู้ดูแลคุณ

ด้วยประสบการณ์ด้านการจัดซื้อและการจัดการซัพพลายเชนมากว่า 30 ปี