เส้นทางการขนส่งวัคซีนไฟเซอร์

Supply Chain Guru Logo 1
pfizer1113-min

เมื่อวันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ข่าวดีเรื่องวัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐอเมริกาบริจาคให้ประเทศไทยเป็นจำนวน 1.5 ล้านโดสโดยมีวัตถุประสงค์ในการเอามาให้กับบุคลากรด่านหน้าเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าเนื่องจากวัคซีนที่มีอยู่ในประเทศไทยไม่สามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วัคซีน mRNA ของไฟเซอร์เป็นสินค้าควบคุมอุณหภูมิ บริษัท Pfizer BioNTech จึงต้องให้ความใส่ใจในการขนส่งและกระจายวัคซีน ตั้งแต่เรื่องการควบคุมคุณภาพในการขนส่ง การหาบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม (Packaging) และการจัดเก็บวัคซีนเมื่อเดินทางถึงจุดกระจายปลายทาง วันนี้ซัพพลายเชน กูรู จะมาเล่าให้ฟังครับ

วัคซีนหลักที่ใช้ในประเทศไทยปัจจุบันคือ วัคซีนประเภทเชื้อตาย นั่นคือ วัคซีนซิโนแวค และ วัคซีนประเภทเทคนิคไวรัลแว็กเตอร์ นั่นคือ วัคซีนแอสตร้า เซนเนก้า วัคซีนเหล่านี้สามารถเก็บไว้ได้ในตู้แช่เย็นตามมาตรฐานโรงพยาบาลทั่วไป ที่ควบคุมอุณหภูมิอยู่ที่ 2-8 องศาเซลเซียส การนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ซึ่งเป็นวัคซีนประเภท mRNA สารพันธุกรรมของไวรัสเป็นชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็กและเปราะบางมาก โมเลกุลของพวกมันจะต้องอยู่ในสภาวะที่เคลื่อนไหวน้อยที่สุด ซึ่งอุณหภูมิที่เหมาะสมซึ่งต่ำถึง -70 องศาเซลเซียสจะช่วยให้ mRNA เคลื่อนไหวช้าลง เป็นการป้องกันไม่ให้วัคซีนเสื่อมสลายนั่นเอง

COVID-19-Pfizer-min

หากถามว่า อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส เทียบได้กับอะไรบ้าง การขนส่งอาหารและเนื้อสัตว์ ธรรมดา มาตรฐานอุณหภูมิจะอยู่ที่ -15 องศาเซลเซียส ในขณะที่การขนส่งโดยใช้อุณหภูมิถึง -70 องศาเซลเซียสจะมีใช้อยู่บ้างแต่จะอยู่เฉพาะในบริษัทเอกชนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการขนส่งแบบ cold chain เท่านั้น จะเห็นได้ว่า การนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์จะต้องทำการบ้านพอสมควร บริษัท Pfizer BioNTech ได้วางแผนมาเป็นอย่างดีในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เครื่องมือ วิธีการขนส่งและวิธีการจัดเก็บ

ไฟเซอร์ควบคุมคุณภาพการขนส่งได้อย่างไร?

คำตอบคือ บรรจุภัณฑ์ (Packaging)

  1. กล่องควบคุมอุณหภูมิ (Thermal shipper):

    นึกภาพตามนะครับ กล่องควบคุมอุณหภูมิจะมีลักษณะเป็นกล่องซ้อนกัน 2 กล่อง กล่องด้านในจะเป็นตัวบรรจุวัคซีนได้ถึง 1,000 โดส พื้นที่ระหว่างกล่องด้านในและด้านนอกจะเป็นพื้นที่ไว้ใส่น้ำแข้งแห้ง ทั้งตัวกล่องและน้ำแข็งแห้งจะเป็นตัวช่วยควบคุมอุณหภูมิของวัคซีนให้อยู่ในช่วงอุณหภูมิที่กำหนดไว้ นั่นคือ -70 องศาเซลเซียส (+/- ไม่เกิน 10 องศาเซลเซียส)

    thermal shipper-min

  2. GPS-enabled thermal sensors:

    เมื่อใส่น้ำแข็งแห้งไปในกล่องควบคุมอุณหภูมิแล้ว บริษัท Pfizer-BioNTech จะรู้ได้อย่างไรว่าอุณหภูมิจะอยู่ในช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสม คำตอบคือการติดตั้ง GPS-enabled thermal sensors ไว้บนกล่องทุกกล่อง GPS ตัวนี้จะเชื่อมต่อกับ control tower ตลอด 24 ชั่วโมง และเป็นตัวติดตามสถานที่และอุณหภูมิ เมื่อไหร่ก็ตามที่อุณหภูมิไม่อยู่ในช่วงที่กำหนดไว้ ศูนย์ control tower จะแจ้งมายังผู้ดูแลวัคซีนทันทีเพื่อให้ผู้ดูแลสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันที

    GPS-enabled sensors-min

กระบวนการขนส่งวัคซีนไฟเซอร์

เมื่อมีบรรจุภัณฑ์เรียบร้อยแล้ว การขนส่งวัคซีนเป็นอย่างไร?

แน่นอนว่าการขนส่งวัคซีนที่เร็วที่สุดคือการขนส่งทางอากาศ จากโรงงานผลิตวัคซีน Pfizer-BioNTech ในเมืองคาลามาซู มลรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา วัคซีนจะถูกจัดเก็บอยู่ในกล่องควบคุมอุณหภูมิ ภายในประกอบด้วยน้ำแข็งแห้งอัดซึ่งจะเก็บวัคซีนไว้ได้นาน 10 วันโดยไม่ต้องเปิดกล่อง บนกล่องจะถูกติดตั้ง GPS-enabled thermal sensors เพื่อใช้ในการแทร็คโลเคชั่นและติดตามอุณหภูมิของการขนส่งวัคซีนตลอด 24 ชั่วโมง

ดูตัวอย่างการแพ็ควัคซีนไฟเซอร์ในกล่องควบคุมอุณหภูมิได้ในวีดีโอนี้เลยครับ

การจัดเก็บวัคซีนไฟเซอร์

จากคำแนะนำตาม Distribution Fact Sheet ของไฟเซอร์ การจัดเก็บรักษามี 3 วิธี

  1. เก็บในกล่องควบคุมอุณหภูมิสามารถจัดเก็บวัคซีนได้นาน 30 วัน โดยต้องเปลี่ยนน้ำแข็งแห้งทุก ๆ 5 วัน
  2. เก็บในตู้แช่แข็งUltra-low-temperature freezers (ULT freezers) ซึ่งจะจัดเก็บวัคซีนในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียสซึ่งจัดเก็บได้นานถึง 6 เดือน ถือว่าเป็นการจัดเก็บที่ดีที่สุดสำหรับวัคซีน mRNA ของ Pfizer-BioNTech
  3. เก็บในตู้เย็นที่ใช้ในโรงพยาบาลทั่วไป ในกรณีนี้ วัคซีนจะสามารถจัดเก็บไว้ได้นานเพียง 5 วันในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ การกระจายวัคซีนเป็นเรื่องท้าทายอีกเรื่องเรื่องหนึ่ง หากรัฐบาลเลือกที่จะไม่ลงทุนใน ULT Freezers นั่นหมายความว่า ทางเลือกที่มีทางเดียวคือ การเก็บในกล่องควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งเก็บไว้ได้เพียง 30 วัน และเก็บในตู้เย็นตามมาตรฐานโรงพยาบาลได้อีก 5 วัน รวมทั้งสิ้นเป็น 35 วัน เท่ากับ ใน 1 วัน ประเทศไทยจะต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับบุคลากรด่านหน้าอย่างต่ำวันละ 42,858 คน (รวมวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ด้วย) ถึงจะดูไม่เยอะแต่ต้องวางแผนให้ดี เพราะถ้าวัคซีนได้ถูกเอาออกมานอกกล่องควบคุมอุณหภูมิและแช่ที่ 2-8 องศาเซลเซียสแล้ว จะไม่สามารถนำกลับไปเก็บรักษาที่อุณหภูมิ -70 ได้อีก ทางศูนย์ฉีดวัคซีนจะมีเวลาเพียง 5 วันเท่านั้นในการจัดการวัคซีน

จะเห็นได้ว่า โลจิสติกส์การขนส่งสินค้าต่างๆ ตั้งแต่เรื่องการควบคุมคุณภาพในการขนส่ง การหาบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม (Packaging) และการจัดเก็บสินค้าเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการคุณภาพของสินค้าและความพึงพอใจของลูกค้าทั้งสิ้น หากคุณกำลังมองหาหลักสูตรที่ช่วยให้คุณสามารถเข้าใจการจัดการโลจิสติกส์ ทำให้คุณทำงานได้อย่างมีหลักการและมีประสิทธิภาพมากขึ้น คุณสามารถลงเรียนคอร์สประกาศนียบัตรวิชาชีพการจัดการซัพพลายเชน ระดับสากล ด้าน Logistics กับเราได้เลย (หลักสูตรรับรองโดย International Trade Centre (ITC) WTO United Nations) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ คลิก https://supplychainguru.co.th/international-professional-certificate-logistics/

อ้างอิง: https://www.pfizer.com/news/hot-topics/covid_19_vaccine_u_s_distribution_fact_sheet

https://www.pfizer.com/news/hot-topics/distributing_our_covid_19_vaccine_to_the_world

แชร์บทความนี้

Facebook
LinkedIn

ให้เราเป็นผู้ดูแลคุณ

ด้วยประสบการณ์ด้านการจัดซื้อและการจัดการซัพพลายเชนมากว่า 30 ปี