7 คำแนะนำการจัดเก็บสินค้าคงคลังที่เป็นสารเคมี

Supply Chain Guru Logo 1
chemical-pollution-abstract-concept

จากเหตุการณ์โรงงานหมิงตี้ เคมิคอล ระเบิดเมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ใช้เวลากว่า 20 ชั่วโมงที่เพลิงไหม้จะเริ่มดับลงและมีการปะทุเป็นช่วงๆ โรงงานหมิงตี้เป็นโรงงานผลิตโฟมและพลาสติก ตั้งอยู่ในพื้นที่ซอยกิ่งแก้ว 21 เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดอัคคีภัยหรือไฟไหม้โรงงานที่มีการจัดเก็บสารเคมีแบบนี้ขึ้นในอนาคต สินค้าที่เป็นสารเคมีจัดว่าเป็นสินค้าประเภทสินค้าอันตราย (Hazardous product) เป็นสินค้าที่อยู่ระหว่างการขนส่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงภาพลักษณ์ เพราะสินค้าอาจทำให้เกิดการระเบิด ไวต่อไฟ หรือเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตได้ เพราะฉะนั้น การจัดเก็บสินค้าคงคลังที่เป็นสารเคมีต้องคำนึงถึงเรื่องการเก็บสารเคมีให้ถูกต้อง ถูกตามหลักมาตรฐานการเก็บสารเคมี ซัพพลายเชน กูรู มีคำแนะนำ 7 ข้อที่สามารถใช้เป็นแนวทางในการจัดเก็บสินค้าคงคลังที่เป็นสารเคมีได้

  1. รู้จักและเข้าใจคุณสมบัติสารเคมีแต่ละตัว:

    การทำความเข้าใจในสารเคมีแต่ละตัวเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการจัดเก็บเพราะสารเคมีบางชนิด ไม่สามารถเก็บไว้ด้วยกันได้เพราะจะเกิดการสันดาป หรือสารเคมีบางตัวไม่สามารถจะดับเพลิงด้วยน้ำได้ เช่น Styrene ที่อยู่ในโรงงานพลาสติกหมิงตี้ เคมีคอล ที่การใช้น้ำฉีดไปที่ Styrene โดยตรงแทบจะไม่มีประโยชน์เลยเนื่องจากความหนาแน่นของมันเบากว่าน้ำ ทำให้มันยังคงติดไฟต่อได้ วิธีที่ใช้ในการดับได้คือการฉีดโฟมดับเพลิงปิดคลุมผิดหน้า เป็นต้น บริษัทสามารถจะศึกษาคุณสมบัติของสารเคมีแต่ละตัวได้จาก MSDS (Material Safety Data Sheet) ซึ่งจะบอกคุณสมบัติของเคมีแต่ละตัว ความไวไฟ ปฏิกิริยาเคมี

  2. โครงสร้างของคลังสินค้าที่เก็บสารเคมีต้องเป็นโครงสร้างที่ทนไฟได้:

    เริ่มจากการออกแบบโครงสร้างของคลังสินค้าว่าต้องใช้วัสดุที่สามารถทนไฟได้ ไม่ใช่โครงสร้างทั่วไป ตั้งแต่หลังคา ประตู กำแพง โครงสร้างคลังสินค้าควรออกแบบและทำตามหลัก NFPA (เป็นชื่อย่อของ National Fire Protection Association ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1896 เป็นองค์กรชั้น นำของโลกที่สนับสนุนกิจกรรมด้านการป้องกันอัคคีภัย สำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา) เช่น โครงสร้างกำแพงที่ทนไฟได้ 90-120 นาที หรือถ้าเป็นคลังสินค้ามีหลายบล็อกติดๆกัน หรือคลังสินค้าที่มีคนพักอาศัยใกล้ บริษัทจะต้องมีกำแพงสูงขึ้นไปเพื่อป้องกันการลุกลามของไฟ (fire spread) เพราะไฟเวลาไหม้ ไฟจะลามออกข้างๆ ภายในคลังสินค้าควรติด smoke detector และ heat detector เพื่อตรวจจับควันไฟและความร้อนเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ด้วย นอกจากนี้ หลอดไฟในคลังสินค้าควรจะเป็นหลอดไฟประเภท non-combustible นั่นคือ หลอดไฟที่ไม่ก่อให้เกิดสปาร์กให้ไฟติด

  3. ชั้นวางสินค้าควรมี in-rack sprinkler สำหรับสารเคมีที่ดับได้ด้วยน้ำ:

    ชั้นวางสินค้าประเภทสารเคมีควรมี sprinkler ติดไว้ด้วย เพราะหากเกิดเหตุไฟไหม้ sprinkler พวกนี้ก็จะทำงานเพื่อดับไฟเบื้องต้น หรือถ้าเก็บสินค้าไว้นอกคลังสินค้า ต้องคำนึงถึง safety distance ด้วยว่า ควรเว้นระยะเท่าไหร่ถึงจะปลอดภัย

  4. จัดเก็บแผนผังคลังสินค้าในที่ปลอดภัย:

    ทางบริษัทควรจัดทำแผนผังคลังสินค้าพร้อมกับปริมาณที่จัดเก็บสารเคมีเพื่อให้ทราบจำนวนแน่นอนในแต่ละวันว่ามีสารเคมีที่จัดเก็บเท่าไหร่ และสินค้าแต่ละประเภทจัดเก็บอยู่ที่ไหน เมื่อเวลาเกิดไฟไหม้ ทางพนักงานดับเพลิงจะได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นและวางแผนการดับเพลิงได้ ซึ่งการจัดเก็บแผนผังคลังสินค้า บริษัทควรอัพเดทให้เป็นปัจจุบันเสมอและควรเก็บไว้ในที่ปลอดภัย เช่น ในระบบ cloud เป็นต้น

  5. ควรมีการซ้อมดับเพลิงกับพนักงานดับเพลิงท้องถิ่นอย่างสม่ำเสมอ:

    บริษัทควรจัดการซ้อมการดับเพลิงเป็นประจำ และควรเป็นการซ้อมเสมือนจริง บริษัทควรมีการติดตั้งสัญญาณไฟไหม้ตรงไปที่ศูนย์ดับเพลิงเลย ในการซ้อมแบบเสมือนจริงควรเริ่มตั้งแต่มีเหตุเพลิงไหม้ ใครเป็นผู้รับผิดชอบในการอพยบอะไรบ้าง เพื่อลดความสูญเสียและควบคุมเพลิงไฟอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ ในคลังสินค้า แต่ละจุดควรมีถังดับเพลิงให้เพียงพอด้วย

    brave-firefighters-firefighting-with-flame-min

  6. การคำนวนปริมาณน้ำดับเพลิงสำรอง:

    ปัจจัยที่ควรนำมาคิดปริมาณน้ำดับเพลิงสำรองมีหลักๆ 2 ปัจจัย ได้แก่ และ ปัจจัยแรก ระยะเวลาที่พนักงานดับเพลิงใช้ในการเดินทางมาที่บริษัท เราควรจะต้องทราบว่าเมื่อมีสัญญาณดับเพลิงแจ้งไปที่หน่วยงานดับเพลิงท้องที่ พวกเค้าจะใช้เวลาประมาณกี่นาทีถึงจะมาถึงที่เกิดเหตุเพื่อที่จะนำมาคำนวนปริมาณน้ำที่เราควรจะเก็บไว้รอเวลาพนักงานดับเพลิงมาเพื่อจะเอามาฉีดขั้นต้นได้ก่อน และปัจจัยที่ 2 คือ ปริมาณสินค้าคงคลังที่มีอยู่ นอกจากนี้แล้วน้ำที่ใช้ดับเพลิงแล้ว ตามหลักการไม่ควรจะปล่อยออกไปในพื้นที่สาธารณะเพราะเป็นน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมี การออกแบบคลังสินค้าควรจะคำนึงถึงพื้นที่ในการเก็บน้ำปนเปื้อนสารเคมีตรงนี้ด้วย

  7. บริษัทควรจัดตั้งทีมงานสำหรับให้ข้อมูลเจ้าหน้าที่:

    เนื่องจากในสถานการณ์แบบนี้ การให้ข้อมูลที่ผิดพลาดจะยิ่งทำให้สถานการณ์และภาพลักษณ์บริษัทแย่ลงกว่าเดิม เพราะฉะนั้นบริษัทควรจัดตั้งทีมงานที่จะให้ข้อมูลและสื่อสารกับสื่อมวลชนเพื่อลดผลกระทบ ความวิตกกังวล และทำให้การให้ข้อมูลถูกต้องมากยิ่งขึ้น

แชร์บทความนี้

Facebook
LinkedIn

ให้เราเป็นผู้ดูแลคุณ

ด้วยประสบการณ์ด้านการจัดซื้อและการจัดการซัพพลายเชนมากว่า 30 ปี