บทสรุปความท้าทายในการกระจายวัคซีน

Supply Chain Guru Logo 1

เป็นเรื่องที่ดีที่เราได้เห็นวัคซีนโควิดหลายๆยี่ห้อมีประสิทธิภาพที่ดีในการลดความรุนแรงของโรคโควิดได้ดี แต่ในตอนนี้ทั้งโลกก็ยังประสบความท้าทายจากการกระจายวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นจากประเทศที่ผลิตไปยังประเทศเป้าหมาย หรือการกระจายวัคซีนในประเทศให้ทั่วถึงเองก็ตาม การคาดการณ์ปริมาณวัคซีนที่ต้องใช้ในปัจจุบัน ต้องใช้มากถึง 12-15 พันล้านโดส แต่ในขณะเดียวกันโรงงานวัคซีนที่ผลิตอยู่ได้ในปัจจุบันไม่สามารถผลิตได้เยอะขนาดนั้น ปัจจุบันในประเทศไทยเอง คนส่วนใหญ่ก็ได้รับผลกระทบจากการกระจายวัคซีนไม่ทันแล้ว วันนี้อาจารย์หนุ่มซัพพลายเชนกูรู จะมานำเสนอเรื่อง ความท้าทายในการกระจายวัคซีน ว่ามีปัจจัยอะไรบ้าง

กำลังการผลิต (Production capacity)

ปัญหาแรกที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือเรื่องกำลังการผลิต ณ ขณะนี้ทั้งโลกกำลังประสบปัญหา Demand (อุปสงค์) มากกว่า Supply (อุปทาน) ถึงแม้ว่ามีเงินอยู่ ก็ไม่สามารถซื้อวัคซีนได้เพราะกำลังการผลิตวัคซีนรวมกันทั้งโลกยังไม่สามารถครอบคลุมความต้องการได้ ไฟเซอร์ (Pfizer) คาดว่าจะผลิตวัคซีนได้ 1.3 พันล้านโดสในปีนี้ ในขณะที่โมเดอร์น่า (Moderna) จะขยายกำลังการผลิตให้ได้ 1 พันล้านโดสในปีนี้ ส่วนฐานการผลิตวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดในโลกในประเทศอินเดีย – Serum Institute of India สามารถจะผลิตวัคซีนได้อีก 3 พันล้านโดสให้กับ AstraZeneca, Johnson & Johnson และ Sanofi ซึ่งจะเหลืออีกประมาณ 7-10 พันล้านโดสที่จะขาดตลาด

หากจะเพิ่มกำลังการผลิตโดยการสร้างโรงงานเพิ่ม มันอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายขนาดนั้นเพราะโรงงานจะต้องได้มาตรฐานตาม Current Good Manufacturing Practice (CGMP) ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อยๆ 6 เดือนในการได้รับการรับรอง นอกจากนี้เอง ความท้าทายตรงนี้จะยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้นเมื่อคำนึงถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการทำวัคซีนด้วย นั่นคือ ขวดแก้ว (Glass vials) และเข็ม (Syringes) ที่ทางผู้ผลิตจะต้องเตรียมการให้ดีๆเพื่อรองรับการผลิตวัคซีน

เงื่อนไขการกระจายวัคซีน (Distribution requirements)

เป็นที่รุ้กันว่า วัคซีนจะต้องเก็บอยู่ในที่ควบคุมอุณหภูมิและต้องจัดส่งแบบควบคุมอุณหภูมิตั้งแต่อุณหภูมิ -50 ถึง -15 องศาเซลเซียสเพื่อคงประสิทธิภาพของวัคซีนไว้ มีตัวอย่างในประเทศอินเดียที่ประสบปัญหา ในประเทศอินเดียจะมีผู้ประกอบการด้าน cold-chain logistics อยู่กว่า 28,000 ราย แต่คุณภาพของแต่ละรายไม่เข้าเงื่อนไขของการกระจายวัคซีนเลย ถึงแม้ว่าวัคซีนที่ Serum Institute of India จะผลิตวัคซีนให้ AstraZeneca ที่สามารถบรรจุและจัดเก็บในตู้เก็บความเย็นมาตรฐานทั่วไปได้ อินเดียก็ยังประสบกับความท้าทายนี้อยู่เหมือนกัน

arrangement-with-coronavirus-vaccine-bottle-min

ความไม่ต่อเนื่องของข้อมูล (Disconnected information systems)

การส่งข้อมูลและเชื่อมต่อกันระหว่างประเทศมีความท้าทายอยู่ตรงที่ แต่ละประเทศใช้ระบบที่ต่างกัน หมวดหมู่สินค้าที่ใช้ต่างกัน ซึ่งทำให้การเชื่อมต่อข้อมูลกันเป็นเรื่องที่ท้าทาย จึงเป็นที่มาของการให้ World Health Organization (WHO) เป็นผู้นำในการจัดตั้ง GS1 หรือ สถาบันรหัสสากล ขึ้นเพื่อให้ทุกประเทศมีมาตรฐานในการบันทึกข้อมูลเดียวกัน เช่น มาตรฐานสากลสำหรับการระบุสิ่งต่าง (Identify), มาตรฐานสากลสำหรับการบันทึกข้อมูล (Capture) เป็นต้น จัดตั้ง DSCSA (Drug Supply Chain Security ACT) เพื่อให้ผู้ที่เข้าร่วมในซัพพลายเชนสามารถติดตามยารักษาโรคตลอดระบบห่วงโซ่อุปทานได้

ตัวอย่างในประเทศไทยเอง การที่มีระบบลงทะเบียนฉีดวัคซีนหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นหมอพร้อม ไทยร่วมใจ ลงทะเบียนกับอสม. ลงทะเบียนระดับท้องถิ่น วิธีการลงทะเบียนก็ต่างกัน มีตั้งแต่การลงทะเบียนโดยผ่านเว็บไซต์ ผ่านแอปพลิเคชั่น ในระดับท้องถิ่นบางที่ยังใช้การลงทะเบียนบนกระดาษอยู่ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ไม่ได้เป็นการ centralize ข้อมูลเข้าด้วยกันที่เดียว ถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้วข้อมูลของการฉีดวัคซ๊นของประชาชนทุกคนจะไปอยู่ในระบบหมอพร้อม แต่ก็ต้องใช้เวลา 3-5 วันในการรวบรวมข้อมูล ข้อมูลไม่ได้เชื่อมต่อกันแบบ real time

การเมืองและความเท่าเทียม (Political influence and social equality)

หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า ปัญหาเรื่องการเมืองจะเป็นอีกความท้าทายหนึ่งในการกระจายวัคซีน ดูภายนอกอาจจะดูเหมือนไม่มีอะไร ไม่มีปัญหา หากมองลึกลงไปจริงๆแล้วปัจจัยทางด้านการเมืองอาจเป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้การกระจายวัคซีนไม่ตรงไปตามแผนการที่วางไว้

ในการป้องกันเรื่องปัญหาทางการเมืองนี้ ย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ในช่วงการระบาดของโรคซาร์ส (SARS-CoV-2) องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ร่วมมือกับ GAVI, the Vaccine Alliance, the Coalition for Epidemic Preparedness Innovations (CEPI) ได้จัดตั้ง Covax ขึ้นเพื่อกระจายวัคซีนป้องกันโรคซาร์สจำนวน 2,000 ล้านโดสให้กับประเทศสมาชิกทั่วโลกกว่า 172 ประเทศเพื่อลดปัญหาในเรื่องการเมือง ความไม่เท่าเทียมกันและการเข้าถึงวัคซีนของประเทศเหล่านั้น ในยุคปัจจุบันของโควิดนี้เอง องค์การอนามัยโลกก็ได้จัดตั้ง Covax เช่นเดียวกัน โดยเป็นการร่วมมือกันขององค์การอนามัยโลก, CEPI, GAVI และ UNICEF ที่จะกระจายวัคซีนให้กับประเทศสมาชิกให้ครอบคลุมอย่างต่ำ 20% ของประชากรประเทศนั้นๆ เพื่อลดปัญหาเรื่องการเข้าถึงวัคซีน ลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อ และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาสภาวะปกติ

COVAX from UNICEF
#สรุป

การเดินทางของวัคซีนจากประเทศผู้ผลิตมายังประเทศเป้าหมายนั้นย่อมมีความท้าทายต่างๆมากมายที่หลายประเทศจะต้องประสบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกำลังการผลิตวัคซีน เงื่อนไขในการกระจายวัคซีน เรื่องความไม่ต่อเนื่องของข้อมูล และเรื่องทางการเมืองที่อาจะเข้ามาเป็นความปัญหาที่ทุกประเทศต้องหาวิธีจัดการและรับมือกันไป หากประเทศไหนมีระบบการจัดซื้อและจัดการวัคซีนที่ดี ประเทศนั้นก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ไว และย่อมได้เปรียบทางการค้า นั่นหมายถึง ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ อัตราการแพร่เชื้อลดลงจนแทบจะไม่มี ธุรกิจก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

อ้างอิง: https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/indias-serum-institute-raise-astrazeneca-covid-19-vaccine-output-june-2021-05-31/

https://www.gs1th.org/

https://www.fda.gov/drugs/drug-supply-chain-integrity/drug-supply-chain-security-act-dscsa

https://www.who.int/initiatives/act-accelerator/covax

แชร์บทความนี้

Facebook
LinkedIn

ให้เราเป็นผู้ดูแลคุณ

ด้วยประสบการณ์ด้านการจัดซื้อและการจัดการซัพพลายเชนมากว่า 30 ปี