จับตา 5 เทรนด์ซัพพลายเชน ประจำปี 2565

Supply Chain Guru Logo 1
chess strategy win

จับตา 5 เทรนด์ซัพพลายเชน ประจำปี 2565

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เกิดการอุบัติของโรคโควิด-19 ซัพพลายเชนทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นการเกิด supply disruption สินค้าขาดตลาด ในสถานการณ์วิกฤตแบบนี้ทำให้ธุรกิจทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการจัดการซัพพลายเชนมากขึ้น หน่วยงานซัพพลายเชนกลายเป็นศูนย์การของการจัดการธุรกิจทั้งในเรื่องของการปรับปรุงประสิทธิภาพ เพิ่มขีดการแข่งขัน เพิ่มโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ จัดการความเสี่ยง และลดต้นทุน

วันนี้ผมจะมาวิเคราะห์กันว่า 5 เทรนด์ซัพพลายเชนที่จะกลายเป็นเทรนด์ที่ทุกธุรกิจจะต้องทำต่อไปมีอะไรบ้าง

1. Resilience (ความสามารถในการฟื้นตัว):

Resilience หรือความสามารถในการฟื้นตัวจากความผันผวน สิ่งที่ไม่คาดคิด เพราะฉะนั้น Supply Chain Resilience คือ ความสามารถของทุกกลุ่มบุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ในซัพพลายเชน (ห่วงโซ่อุปทาน) ในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดให้ฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติให้ได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งองค์กรมีความสามารถฟื้นตัวได้ไวเท่าไหร่ องค์กรยิ่งมีขีดความแข่งขันมากขึ้นเท่านั้น Resilience จะสะท้อนให้เห็นถึงการเตรียมตัวและความแข็งแกร่งขององค์กรได้เป็นอย่างดี ผมขออนุญาตยกตัวอย่างให้เห็นภาพครับ ย้อนไป 11 ปีที่แล้ว ญี่ปุ่นได้เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิที่ทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง รวมไปถึงซัพพลายเออร์ของนิสสันและโตโยต้า สองบริษัทยัก์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมรถยนต์ นิสสันได้เตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้าในการจัดทำ supplier network ไว้จึงทำให้นิสสันกลับมาสู่สภาพธุรกิจปกติได้ไวกว่าโตโยต้า เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้โตโยต้าได้เกิดการเรียนรู้และทำให้ 5 ปีถัดมาเมื่อเกิดภัยธรรมชาติขึ้น โตโยต้าได้เตรียมการและรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อ่านเพิ่มเติมเรื่องการทำ Supply Chain Resilience ได้ คลิก

2. Integration (การบูรณาการ)
การบูรณาการซัพพลายเชน คือ การพัฒนาของกลยุทธ์ด้านความร่วมมือทั้งในบริษัทและระหว่างบริษัท การบูรณาการถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญที่ใช้ในการพัฒนาผลการดำเนินงานของบริษัทให้ดีขึ้น จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ บริษัทมันต้องมีการเปลี่ยนแปลงภายใน มีหน่วยงานซัพพลายเชนภายในที่คอยเชื่อมภาพใหญ่ให้เห็นเป็นภาพเดียวกัน ไม่ทำงานเป็นไซโล ถ้าการทำงานยังเป็นไซโล ต่อไปก็แข่งขันในตลาดไม่ได้อย่างแน่นอน ซึ่งการบูรณาการนั้นแบ่งออกเป็น

    • การบูรณาการภายในองค์กร (Internal integration) คือการบูรณาการระดับโครงสร้างของการปฏิบัติงาน การทำงานข้ามแผนกและการร่วมมือกันเพื่อพัฒนากระบวนการทำงาน
    • การบูรณาการภายนอกองค์กร (External integration) คือการบูรณาการระดับกลยุทธ์กับพาร์ทเนอร์ภายนอกองค์กร เช่น ลูกค้า และซัพพลายเออร์ ถึงกระบวนการและวิธีการทำงานเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือและกระบวนการทำงานที่สอดคล้องกันอ้างอิงจากหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพด้านโลจิสติกส์ ขององค์การการค้าโลก (International Trade Centre – ITC) ได้กล่าวไว้ว่า “การบูรณาการภายนอกองค์กรจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่เกิดการบูรณาการภายในองค์กรก่อน” ซึ่งผมขอคอนเฟิร์มว่าจริงครับ หากภายในองค์กรยังทำงานเป็นไซโล ข้อมูลไม่เชื่อมต่อถึงกันหมด ร้อยทั้งร้อยก็ทำให้เกิดปัญหาจนนำไปสู่การหยุดชะงักของธุรกิจเลยก็ว่าได้ ผมมีลูกค้าหลายรายที่เข้ามาปรึกษาผมในการทำ Internal integration เช่นกัน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีมากเลยครับที่หลายๆองค์กรตื่นตัว

3. Visibility (ความโปร่งใส ชัดเจน)

ต่อไปเรื่องความโปร่งใสในการจัดการซัพพลายเชนจะไม่ใช่แค่ “สิ่งที่ควรจะทำ” แต่เป็น ”สิ่งที่ต้องทำ” ที่ทุกบริษัทหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้อมูลตรงนี้มีประโยชน์มากกับทั้งตัวบริษัทและลูกค้า ความโปร่งใสเชิงพาณิชย์ที่ความจำเป็นมาก เช่น ในร้านค้าที่เป็นแบบ Omni-channel เรื่องการเช็คสต๊อกสินค้าแบบ real-time ระหว่างหน้าร้าน หน้าเว็บไซต์และคลังสินค้า ลูกค้าต้องการทราบว่า สินค้าที่เค้าจะเลือกซื้อนั้นมีสต๊อกพอเพียงหรือไม่ ถ้าไม่มี สินค้ามีเก็บไว้คลังสินค้าหรือสาขาอื่นหรือไม่ และในขณะเดียวกัน บริษัทก็จะได้ข้อมูลแบบแผนการเลือกซื้อของลูกค้าเพื่อนำไปปรับปรุงจำนวนสต๊อกสินค้าให้แม่นยำยิ่งขึ้นได้ในอนาคต

4. Sustainability (ความยั่งยืน)

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความยั่งยืนเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่มาแรงมากจริงๆ การที่ธุรกิจจะเติบโตไปได้อย่างยั่งยืนนั้นจะต้องอาศัยการจัดการซัพพลายเชนที่ยั่งยืนด้วย ความยั่งยืนด้านการจัดการซัพพลายเชน คือ การคำนึงถึงปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมตลอดในทุกๆขั้นตอนในวงจรของซัพพลายเชน (Supply chain life cycle) ตั้งแต่เริ่มต้นพัฒนาสินค้า การเลือกวัตถุดิบ การผลิต การแพ็คสินค้า การขนส่ง การจัดการคลังสินค้า การกระจายสินค้า ไปจนถึงการใช้และการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังใช้ โดยปัจจุบันองค์การสหประชาชาติได้จัดตั้ง “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือที่รู้จักกันในชื่อSustainable Development Goals – SDGs ขึ้นมาเพื่อเป็นเป้าหมายในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกัน ประกอบไปด้วย 17 เป้าหมายด้วยกัน ผมเคยเขียนบทความเรื่องซัพพลายเชนกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ สำหรับผู้ที่สนใจเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ในฐานะนักซัพพลายเชน ผมขอยกตัวอย่างมา 1 เป้าหมายครับ

เป้าหมายที่ 12 – แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production) พวกเราในฐานะชาวซัพพลายเชน สามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ลดการใช้ทรัพยากรโดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วย รวมไปถึงการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ (Packaging) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมองไปจนถึงการนำบรรจุภัณฑ์เหล่านี้กลับมารีไซเคิลและนำไปเกิดการใช้ประโยชน์ต่อไป

จะเห็นได้ว่า การทำความยั่งยืนจะทำให้บริษัทสามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเองไปได้ในระยะยาวโดยที่ส่งผลกระทบถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

5. Data analytics (การวิเคราะห์ข้อมูล)

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้ามามีบทบาทของการวิเคราะห์ข้อมูลหรือ Data analytics ที่คนทั้งโลกให้ความสนใจเพราะ การทำ Data analytics คือการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อพัฒนาธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น Data Analytics เป็นเครื่องมือสำหรับธุรกิจเพราะว่าการที่คุณไม่รู้ข้อมูล ก็เหมือนคุณกำลังงมทาง หาทาง ทดลอง ทดสอบโดยไม่มีจุดมุ่งหมาย บวกกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่จะใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Artificial Intelligence (AI), Machine Learning, Internet of Things (IoT) ที่ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องมือที่ทำให้พวกเราเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลได้แม่นยำขึ้น

อ่านเพิ่มเติมเรื่องการทำ Data analytics ในการจัดซื้อ คลิก

5 เทรนด์ที่ผมได้อธิบายมาทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นเทรนด์ที่สำคัญที่ทั้งโลกให้ความตื่นตัว หากธุรกิจไหนที่ยังไม่เริ่มทำก็จะไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ ทั้ง 5 เทรนค์นี้มีความเกี่ยวพันกันทั้งหมด ธุรกิจต้องการทำ Supply Chain Resilience (1) จะต้องอาศัยการ Integration หรือบูรณาการทั้งภายนอกและภายในบริษัท (2) โดยที่ข้อมูลจะต้องมาเป็นแบบ real time เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส (Visibility) ทั้งซัพพลายเชน (3) ในขณะเดียวกันความโปร่งใสนี้ยังช่วยสนับสนุนความยั่งยืน (4) นอกจากนี้ บริษัทยังควรวิเคราะห์ข้อมูล (5) เพื่อเอาไว้ใช้ในการปรับปรุงศักยภาพการทำงานของแต่ละหน่วยงาน และวิเคราะห์เทรนด์ข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจให้แม่นยำยิ่งขึ้น

แชร์บทความนี้

Facebook
LinkedIn

ให้เราเป็นผู้ดูแลคุณ

ด้วยประสบการณ์ด้านการจัดซื้อและการจัดการซัพพลายเชนมากว่า 30 ปี