UPS ใช้โดรนในการกระจายวัคซีน

Supply Chain Guru Logo 1
UPS-Drone-min

ใช่แล้วครับ คุณฟังไม่ผิดครับ ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการทดลองใช้โดรนในการกระจายวัคซีนและประสบความสำเร็จแล้ว ถือเป็นก้าวเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ในโลกของการขนส่งและโลจิสติกส์เป็นอย่างมาก วันนี้ผมจะมาอธิบายให้ฟังถึงที่มาที่ไปของการใช้โดรนกระจายวัคซีน UPS ทำอย่างไรบ้าง และมุมมองของโดรนในโลกอนาคตกับการขนส่ง

UPS บริษัทขนส่งและโลจิสติกส์ยักษ์ใหญ่ของโลกได้เริ่มพัฒนาการใช้โดรนในการขนส่งมาตั้งแต่ปี 2560 ในการขนส่งยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ และในปี 2562 UPS ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐ (Federal Aviation Administration – FAA) ในการใช้โดรนเพื่อการขนส่งเชิงพาณิชย์ โดยมีจุดประสงค์หลักในการขนส่งยาและเวชภัณฑ์ระหว่างโรงพยาบาล ในช่วงแรกของการทดลอง UPS ได้ทดลองการใช้โดรนภายในบริเวณโรงพยาบาล WakeMed’s ในรัฐ North Carolina โดยใช้โดรนของ Matternet ในการขนส่งเลือดและเวชภัณฑ์ต่างๆ มีน้ำหนักรวมทั้งสิ้น 2.2 กิโลกรัมและสามารถขนส่งในระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร

มาถึงช่วงการระบาดของโควิด

ในเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา UPS ได้ประสบความสำเร็จอีกขั้นในการใช้โดรนกระจายวัคซีนโควิด-19 ที่ Atrium Health Wake Forest Baptist in Winston-Salem ในรัฐ North Carolina ซึ่งการใช้โดรนในครั้งนี้จะอยู่ในระยะทางระหว่างโรงพยาบาลไปยังศูนย์ฉีดยาท้องถิ่น ที่มีระยะทางร่วม 1 กิโลเมตร โดรนสามารถบรรจุวัคซีนได้ทั้งหมด 450 โดส

Atrium Health Wake Forest Baptist - UPS drone-min

UPS ใช้โดรนในการกระจายวัคซีนอย่างไร?

เป็นที่ทราบกันดีว่าวัคซีนเป็นสินค้าควบคุมอุณหภูมิ ถึงแม้ว่าเป็นการขนส่งปกติทางรถยนต์ จะต้องมีการควบคุมอุณหภูมิเป็นอย่างดีตั้งแต่ออกจากโรงงานผู้ผลิตจนถึงเป้าหมายปลายทาง UPS ได้ออกแบบการกระจายวัคซีนออกมาเป็นอย่างดี มีอะไรบ้าง เราไปดูกันครับ

  1. บรรจุภัณฑ์: UPS ได้ออกแบบบรรจุภัณฑ์แบบพิเศษที่จะสามารถควบคุมอุณหภูมิของวัคซีนให้อยู่ในอุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศาเซียลเซียสได้
  2. เทคโนโลยีที่ใช้ตรวจสอบอุณหภูมิ: ตัวตรวจสอบอุณหภูมินั้นจะติดอยู่ในบรรจุภัณฑ์เพื่อติดตามการกระจายวัคซีน หากอุณหภูมิไม่อยู่ในระดับ 2-8 องศาเซลเซียส ตัวตรวจสอบจะเตือนไปยังผู้รับผิดชอบเอง

หากใครสนใจดูคลิปวีดีโอการกระจายวัคซีนโดยใช้โดรนของ UPS สามารถเข้าไปดูได้ตามลิ้งค์นี้เลยครับ

ข้อดีของการใช้โดรนในการกระจายวัคซีน

  1. ใช้เวลาน้อยกว่าการขนส่งทั่วไป: จริงๆแล้ว UPS ไม่ได้มีการระบุอย่างชัดเจนว่าการใช้โดรนเร็วกว่าการขนส่งแบบปกติเท่าไหร่ แต่อ้างอิงจากบทความของ Transfusion แล้ว การใช้โดรนในการขนส่งยาช่วยย่นระยะเวลาในการส่งโดยใช้รถยนต์จาก 90 นาทีเหลือแค่ 3 นาทีจากการใช้โดรน
  2. ต้นทุนต่ำกว่าการขนส่งแบบปัจจุบัน: อ้างอิงจากวิจัยของโรงพยาบาล Johns Hopkins and Inova Fairfax หากมีการใช้โดรนอย่างจริงจัง (เหมือนถ้าซื้อมาแล้วใช้บ่อยๆให้คุ้ม) จะช่วยประหยัดต้นทุนไปถึง 7 บาท/โดส

Drone UPS Vaccine-min

การใช้โดรนต่อไปในอนาคต

จากก้าวแรกในการประสบความสำเร็จในการกระจายวัคซีนในอเมริกาแล้ว ต่อไปอาจมีการนำโมเดลนี้ไปใช้ในประเทศต่างๆที่เห็นประโยชน์ของการใช้โดรน ยกตัวอย่างเช่นในทวีแอฟริกา อ้างอิงจาก Wageningen University & Research and the Youth Harvest Foundation ว่าได้มีการใช้โดรนในการขนส่งยาและเวชภัณฑ์ในพื้นที่ชนบทเพราะถนนและโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เหล่านี้เข้าถึงได้ยาก การใช้โดรนจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เป็นเหมือนทางลัดให้ขนส่งยาและเวชภัณฑ์ได้ตามเวลาที่ต้องการ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานอีกว่า ในแอฟริกามีการใช้โดรนกระจายวัคซีนแล้วกว่า 45,000 โดส

บทสรุป

จากกรณีศึกษาของ UPS เราจะเห็นว่า Key Success Factors ของการกระจายวัคซีนมีอยู่ 2 ปัจจัยด้วยกัน นั่นคือบรรจุภัณฑ์และเครื่องมือที่เอาไว้ใช้ในการควบคุมอุณหภูมิ UPS ได้ตั้งโจทย์ว่า เพื่อที่จะควบคุมคุณภาพของวัคซีนให้มีประสิทธิภาพจนถึงมือผู้ใช้งานจริง ทางทีมจะต้องหาบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ควบคุมอุณหภูมิให้ได้ และหากอุณหภูมิได้ออกเหนือหรือต่ำกว่าอุณหภูมิที่ตั้งไว้ ทาง UPS สามารถรับรู้และแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ซึ่งโมเดลนี้จะเหมือนกับการขนส่งวัคซีนของ Pfizer Bio-NTech ที่ผมเคยเขียนบทความไว้ครับ

แชร์บทความนี้

Facebook
LinkedIn

ให้เราเป็นผู้ดูแลคุณ

ด้วยประสบการณ์ด้านการจัดซื้อและการจัดการซัพพลายเชนมากว่า 30 ปี