โลจิสติกส์ไม่ใช่แค่การขนส่งเพียงอย่างเดียว

Supply Chain Guru Logo 1
logistics transportation container

เคยมีเด็กนักเรียนเดินมาถามผมว่า “อาจารย์คะ โลจิสติกส์คือการขนส่งใช่ไหมคะ?”

ผมจะบอกว่า คนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโลจิสติกส์ว่า โลจิสติกส์ = การขนส่งเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงนั้น โลจิสติกส์มันมีขอบเขตที่กว้างกว่านั้นเยอะ การขนส่งเป็นเพียงแค่ไม้สุดท้ายก่อนบริษัทจะขนส่งสินค้าถึงมือลูกค้าเท่านั้น ก่อนจะมาถึงการจัดส่งนั้นเราก็นับเป็นเรื่องของโลจิสติกส์เช่นกัน วันนี้ผมจะอธิบายเรื่องโลจิสติกส์ให้ทุกคนมองเห็นเป็นภาพเดียวกันว่า ถ้าคุณทำงานสายโลจิสติกส์ คุณจะต้องเจออะไรบ้าง

ขอบเขตโดยรวมของงานโลจิสติกส์ตามนิยามของ International Trade Centre (ITC) WTO United Nations เริ่มจากการจัดการสินค้าคงคลัง (สต๊อก) การจัดการคลังสินค้า เรื่องบรรจุภัณฑ์ การขนส่ง และสิ้นสุดที่การบริหารจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า (Customer Relationship Management – CRM) ในแต่ละฟังก์ชั่นมีความต่อเนื่องและเชื่อมโยงกัน หากฟังก์ชั่นไหนมีการจัดการหละหลวม แน่นอนว่ามันจะต้องส่งผลกระทบถึงฟังก์ชั่นอื่นแน่นอน และผู้ที่ได้รับผลกระทบที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือผู้ที่อยู่ปลายทาง นั่นคือลูกค้านั่นเอง นอกจากนี้ คนในสายงานโลจิสติกส์จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจเรื่อง เรื่องการบริหารคุณภาพโดยรวม (Total Quality Management) ผมจะอธิบายให้ฟังแบบง่ายๆว่าทั้งแต่ละฟังก์ชั่นมีความรับผิดชอบอะไรบ้าง ผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัทที่ดูแลเรื่องโลจิสติกส์ล้วนแล้วแต่ต้องทำความเข้าใจในงานเหล่านี้

isometric-logistics-flowchart-composition-with-isolated-images-delivery-techniques-vehicles-human-characters-with-text-vector-illustration-min

งานในโลจิสติกส์ประกอบไปด้วย

  1. การจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory Management):

    หน้าที่หลักของฟังก์ชั่นนี้คือรู้ว่าจะต้องของมีอะไร มีเท่าไหร่และมีเมื่อไหร่ เพื่อให้พร้อมส่งต่อระหว่างซัพพลายเออร์กับลูกค้า การจัดการสินค้าคงคลังให้มีประสิทธิภาพจะต้องพึ่งให้แผนงานสินค้าคงคลังมัน synchronize กันตั้งแต่การจัดซื้อไปจนถึง Demand ของลูกค้าเพื่อป้องกันการ overstock หรือมีสินค้าคงคลังมากเกินไป และ การ understock หรือการมีสินค้าน้อยเกินไป

  2. การจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management):

    หน้าที่หลักของฟังก์ชั่นนี้คือรู้ว่า ของอยู่ที่ไหน จำนวนของในระบบและของในคลังสินค้าจะต้องตรงกัน การจัดการผังสินค้าคงคลัง การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในคลังสินค้า รวมไปถึงการเลือกใช้อุปกรณ์ในคลังสินค้าให้เหมาะสมกับประเภทของสินค้า ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอคือ หาของไม่เจอ ของหาย จัดของช้า ผมรับรองว่าเป็นปัญหาหน้างานที่จะต้องเจอเป็นประจำอย่างแน่นอน

    warehouse-workers-checking-inventory-goods-distribution-large-storehouse-min

  3. บรรจุภัณฑ์ (Packaging):

    เรื่องบรรจุภัณฑ์อาจจะเป็นอีกเรื่องที่คนมักมองข้ามความสำคัญไป ทั้งที่แท้จริงแล้ว การจัดการบรรจุภัณฑ์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ตั้งแต่การทำฉลากบ่งชี้ (Label) ให้เป็นไปตามข้อกำหนดและกฏเกณฑ์ต่างๆ นอกจากนี้การเลือกบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับประเภทของสินค้าเพื่อรักษาคุณภาพให้คงอยู่จนถึงการส่งมอบจะสะท้อนถึงความพึงพอใจของลูกค้าอีกด้วย

  4. การขนส่ง (Transportation):

    การขนส่งจะแบ่งออกเป็นการจัดการฟลีทรถ (Fleet Management) นั่นคือการจัดรถ จัดสรรทรัพยากรในการเดินรถ และการจัดการเส้นทาง (Route Management) ว่าให้เดินทางขนส่งทางไหนที่จะมีประสิทธิภาพ คุ้มต้นทุน ใช้ทรัพยาการให้คุ้มค่าที่สุดและทำลายสิ่งแวดล้อมได้น้อยที่สุด

  5. การบริหารจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า (Customer Relationship Management – CRM):

    เมื่อส่งสินค้าถึงมือลูกค้าปลายทางแล้ว ส่วนใหญ่คนคิดว่างานของโลจิสติกส์จบแค่นั้น แต่จริงๆแล้วคนส่วนใหญ่มักหลงลืมการทำ CRM ไปเลย การทำ CRM นั้นจะช่วยให้บริษัทบริหารและกระชับความสัมพันธ์กับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยการใช้ระบบ CRM เข้ามาช่วยในการเก็บข้อมูลและบริษัทจะได้สามารถพัฒนากลยุทธ์เข้าหาลูกค้าได้ง่ายขึ้น

  6. การบริหารคุณภาพโดยรวม (Total Quality Management – TQM):

    การบริหารคุณภาพโดยรวมจะเน้นการใช้เครื่องมือ TQM เพื่อให้มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่องอย่างยั่งยืน โดยเครื่องมือที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ Kaizen, PDCA (Plan-Do-Check-Act), Lean – ECRS, Six Sigma ผมเคยมีสัมมนาเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพในโลจิสติกส์ไว้ ในการสัมมนาได้พูดถึงการใช้เครื่องมือการบริหารคุณภาพพร้อมยกตัวอย่าง คุณสามารถคลิกดูได้ที่นี่ครับ สัมมนาออนไลน์ครั้งที่ 4 – การปรับปรุงประสิทธิภาพในโลจิสติกส์

ผู้บริหารและเจ้าของกิจการที่รับผิดชอบงานในส่วนโลจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นควรมีความรู้ ความเข้าใจและประสบการณ์ในทั้ง 6 ฟังก์ชั่นทั้งหมดที่กล่าวมา ในแต่ละฟังก์ชั่นจะมีความท้าทายที่แตกต่างกันไป แค่ประสบการณ์อย่างเดียวอาจไม่พอหากคุณไม่มีหลักการและเฟรมเวิร์คให้การทำงานได้อย่างเป็นระบบ

แชร์บทความนี้

Facebook
LinkedIn

ให้เราเป็นผู้ดูแลคุณ

ด้วยประสบการณ์ด้านการจัดซื้อและการจัดการซัพพลายเชนมากว่า 30 ปี