“พี่ๆ สต๊อกไม่มี ของเข้ามาไม่ทันใช้นะ”
“โห ทำไมของมันล้นออกมานอก shelf แบบนี้ล่ะ ที่เก็บไม่พอหรอ?”
ความท้าทายสุดคลาสสิคของคนทำงานเรื่องสต๊อกสินค้าแบ่งออกเป็น 2 เรื่องใหญ่ นั่นคือ ไม่สต๊อกขาดหรือก็สต๊อกเกิน ซึ่งในทั้ง 2 เรื่องนี้นั้นมีสาเหตุหลักมาจากสาเหตุเดียวกัน จากประสบการณ์การทำงานของผม ผมขอแบ่งสาเหตุที่สต๊อกขาดไม่พอใช้ และสต๊อกบวมล้นคลังออกเป็น 4 สาเหตุหลักด้วยกัน ผมการันตีเลยว่าต้นเหตุจะไม่หนีจาก 4 สาเหตุนี้แน่นอนครับ
สาเหตุที่สต๊อกขาดและสต๊อกเกิน
-
การวางแผนการซื้อวัตถุดิบกับความต้องการของลูกค้าไม่สอดคล้องกัน:
พูดง่ายๆตามหลักเศรษฐศาสตร์ก็คือ Demand กับ Supply ไม่มาชนกัน ทำให้การทำ forecast demand มีความแม่นยำได้ยาก นั่นคือ บางทีก็สั่งของมาเกินล้นความจำเป็น ทำให้ต้องเสียพื้นที่และค่าใช้จ่ายในการเก็บสต๊อก จนบางครั้งไม่ได้นำออกมาใช้เลยจนกลายเป็น dead stock หรือบางครั้งก็สั่งของมาน้อยกว่าที่ต้องการ ส่งผลให้การผลิตหยุดชะงักเพราะวัตถุดิบที่มีไม่เพียงพอ
-
การ set up ระบบที่ใช้หน้างานไม่ถูกต้อง:
ส่วนใหญ่คนชอบคิดว่า “เอาระบบมาใช้ ทำงานง่ายขึ้นแน่นอน” ประโยคนี้ถูกต้องทุกกรณีหากระบบมีการติดตั้ง (set up) ระบบให้ตรงกับกระบวนการการทำงานของบริษัท เช่น กระบวนการการจัดการสินค้าที่เป็นแบบ make-to-stock กับ make-to-order นั้นก็ต่างกันแล้ว แต่บริษัทส่วนใหญ่ไม่ได้วิเคราะห์ในส่วนนี้จึงทำให้การใช้ระบบเป็นเรื่องยุ่งยากและไม่ตอบโจทย์กับหน้างาน เพราะฉะนั้น หลายบริษัทจะมีจุดอ่อนกันในเรื่อง set up ของระบบกันเยอะ
-
การทำงานภายในเป็นแบบไซโล:
การทำงานแบบไซโล นั่นก็คือเมื่อแผนกต่าง ๆ ในองค์กรเดียวกัน ไม่ยอมแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือองค์ความรู้ระหว่างกัน บางทีทำซ้ำกันบ้าง ขัดกันบ้าง ไม่เกิดการร่วมมือกัน ทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสาร ข้อมูลการจัดซื้อและความต้องการของลูกค้าไม่มาชนกัน ผลลัพธ์คือการจัดการสต๊อกให้มีประสิทธิภาพเป็นไปได้ยาก ผมเคยเขียนบทความไว้เรื่อง “การจัดการสต๊อกให้ดีขึ้นได้โดยการทลายการทำงานแบบไซโล” ในบทความนี้จะอธิบายถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการสต๊อกโดยการใช้ CPFR (Collaborative, Planning, Forecasting, Replenishment) นอกจากนี้ ยังมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจของบริษัทคราฟต์ไฮนซ์ที่มีเคล็ดลับความสำเร็จในการทลายไซโลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในซัพพลายเชน
-
ศักยภาพของพนักงานบริหารสต๊อก:
พนักงานหน้างาน ผู้จัดการ ถือเป็นฟันเฟืองหลักในการจัดการสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ความรู้และทักษะที่พนักงานเหล่านี้ควรมีคือ องค์ความรู้ในเรื่องของการจัดการสต๊อก การวางแผนการจัดซื้อสินค้า การเติมเต็มสินค้า (Replenishment) รวมกันเพื่อที่จะวางแผนในการจัดการสินค้าคงคลังให้อยู่หมัด ในบางเคส พนักงานมีความรู้ทฤษฎีแน่นปึ้กแต่ขาดประสบการณ์การทำงาน ไม่สามารถประยุกต์ใช้กับงานได้จริงๆ ในทางกลับกัน พนักงานที่มีประสบการณ์ ลองผิดลองถูกมาเยอะ อาจจะยังขาดการทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
จะเห็นว่าหากวิเคราะห์ดูดีๆแล้ว สาเหตุที่สต๊อกขาดหรือสต๊อกเกินจะวนกันอยู่ใน 4 สาเหตุนี้แหละ เมื่อรู้ถึงสาเหตุแล้ว ผมอยากให้ทุกคนลองเอาสาเหตุเหล่านี้มาสะท้อนกับปัญหาที่คุณเจออยู่หน้างานเพื่อที่จะได้หาวิธีการแก้ไขได้ถูกจุดครับ